รพ.สารภีบวร พัฒนาต้นแบบฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


รพ.สารภีบวร พัฒนาต้นแบบฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย thaihealth


อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ "สังคมสูงวัย" (ageing society) หรือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสัดส่วนของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.38 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2558 สัดส่วนประชากร ผู้สูงอายุไทย มีจำนวนร้อยละ 16 ของประชากรไทยทั้งประเทศ หรือราว 65.1 ล้านคน


ซึ่งถือได้ว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วมาก คือ สูงกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ในขณะที่ประชากรรวมเพิ่มขึ้นด้วยอัตราร้อยละ 0.5 เท่านั้น และตามการคาดประมาณประชากรของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.สภาพัฒน์) ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง ร้อยละ 28 ในปี 2574


ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวในเวทีเสวนา "สังคมสูงวัย ก้าวไปด้วยกัน" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับอีกหลายองค์กร ว่า อีกไม่เกิน 15 ปี ประชากรไทย จะเริ่มเข้าสู่รูปแบบที่วัยแรงงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ


จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 4.5 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (4:1:1) เป็นสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (2:1:1) ทำให้ครอบครัวจะต้องประสบกับปัญหาความเครียดจากภาระค่าครองชีพและภาวะหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น


ขณะที่เมื่อดู "ความพร้อม" ของคนวัยทำงานที่ใกล้จะเป็นผู้สูงอายุ อาจารย์วรเวศม์ กล่าวถึงการสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ด้านการเงิน น่าเป็นห่วงมากที่สุด โดยสัดส่วนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (ก่อนสูงวัย) ไม่คิดหรือคิดแต่ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มีประมาณร้อยละ 42.6 นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 16.13 ยังคงเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน โดยผู้สูงอายุร้อยละ 38.3 ยังคงทำงาน แต่มีเพียงร้อยละ 18.5 เท่านั้นที่ต้องการทำงานด้วยความสมัครใจ แสดงว่าผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงานเพราะความจำเป็นในการหารายได้เพื่อใช้ดำรงชีวิต


รพ.สารภีบวร พัฒนาต้นแบบฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย thaihealth


เช่นเดียวกับ ด้านสุขภาพ สัดส่วนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน (ก่อนสูงวัย) ไม่คิดหรือคิดแต่ไม่ได้เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มีประมาณร้อยละ 40 และเมื่อรวมกับสถิติ แรงงานนอกระบบ ที่มีอยู่ราว 24 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันรายได้กรณีชราภาพ การสรุปว่าสังคมไทยตกอยู่ใน "ภาวะเสี่ยง" ก็คงไม่ผิดนัก อาทิ ในยุคสังคม สูงวัยที่ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพัง สองคนจะใช้ชีวิตอย่างไร? นอกจากนี้ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มอายุยืนขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่สุขภาพแย่ลง จำเป็นต้องได้รับการดูแลยาวนานขึ้นด้วย


จากข้อน่าเป็นห่วงข้างต้น ทำให้หลายภาคส่วนพยายามหาแนวทางดูแลผู้สูงอายุ ดังตัวอย่างของ "สารภีบวรฯ โมเดล" โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ที่คณะของ โครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะสังคมสูงวัย (สปสว.) ซึ่งนำโดยประธานโครงการ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมเมื่อเร็วๆ นี้


รพ.สารภีบวรพัฒนา เป็นต้นแบบ โรงพยาบาลที่ให้การดูแลระยะกลาง เพื่อการรองรับผู้ป่วยหนักก่อนกลับไปพักฟื้นที่บ้าน โดย เน้นไปที่การฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุดด้วยรูปแบบ Rehabilitation schemes คือการให้ฟื้นฟูจากทีมสหสาขาวิชา (multidisciplinary team)  ตลอดจนนำศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน เช่น การนวดผ่อนคลาย การฝังเข็ม และความรู้ของคนในท้องถิ่นเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วย


การฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมามีร่างกายครบสมบูรณ์ราวกับไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่ไกลเกินความสามารถของแพทย์แต่อย่างใด ทว่าด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อำนวยจึงราวกับเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมของทั้งแพทย์และผู้ป่วยไปในทันที โดยเฉพาะปัจจัยด้านทางด้านเครื่องมือ เครื่องไม้ และบุคลากรอย่างแพทย์เฉพาะทางด้านการฟื้นฟู (rehabilitation medicine) เข้ามาวางแผนการรักษา ทำให้ผู้ป่วยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ


รพ.สารภีบวร พัฒนาต้นแบบฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย thaihealth


พญ.ชลาทิพย์ ซื่อวัฒนะ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เข้ามาทำงานจิตอาสาให้กับ รพ.สารภีฯ กล่าวว่า แพทย์ฟื้นฟูจะทำการวินิจฉัยตั้งแต่ระบบการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อมัดต่างๆ ตลอดจนสภาพจิตใจของผู้ป่วยในการเข้าสังคม จากนั้นจึงจะส่งต่อให้กับนักกายภาพบำบัดเพื่อบริหารกล้ามเนื้อมัดต่างๆ และกระตุ้นการทำงานของสมองและการเข้าสังคมโดยนักกิจกรรมบำบัดซึ่งจะเป็นคนออกแบบกิจกรรมให้กับผู้ป่วย หลังจากมั่นใจแล้วว่าร่างกายของผู้ป่วยสามารถกลับใช้งานได้จนเกือบเป็นปกติ จึงจะส่งต่อให้ญาตินำกลับไปดูแลต่อที่บ้าน


ซึ่งก่อนหน้านั้น "ญาติผู้ป่วย" จะต้องมาเตรียมความพร้อมกับทางโรงพยาบาลตั้งแต่การทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของสมองในกรณีผู้ป่วยสูงอายุ และหลังจากกลับไปอยู่บ้านแล้วจะมีการติดตามจากอาสาสมัครโรงพยาบาล เพื่อไปประเมินอาการของผู้ป่วยที่บ้านจนมั่นใจว่ากลับมาเป็นปกติโดยไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่อย่างใด


แม้จะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีอุปสรรคขวางกั้นผู้ป่วยจำนวนมากไม่ให้เข้าถึง คุณหมอชลาทิพย์ ระบุว่า จำนวนแพทย์ฟื้นฟูในประเทศไทยมีน้อยมาก ในจำนวนแพทย์จบใหม่ 100 คน จะพบเพียง 1-2 คนเท่านั้น ที่เลือกศึกษาต่อเฉพาะทางด้านการฟื้นฟู เนื่องจากเป็นสาขาเฉพาะทางที่ "ไม่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ" เมื่อเทียบกับสาขาอื่น อีกทั้งการรักษา ผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เวลานานหลายปีจึงจะเห็นผล


"ความต้องการแพทย์สาขานี้ในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย พบว่าผู้สูงอายุทุก 1 ใน 4 คน จะมีภาวะทุพพลภาพ โดยที่ร้อยละ 76 เป็นผู้มีภาวะทุพพลภาพระยะยาว และร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 100,000 คน มีภาวะทุพพลภาพระดับรุนแรง สาเหตุหลักๆ มาจากการเสื่อมถอย ของร่างกายบวกกับโรคเรื้อรังที่เป็นกันมากในคนชรา" พญ.ชลาทิพย์ ระบุ


จากข้อจำกัดต่างๆ นานา ข้างต้น ทางออกที่พอจะเป็นไปได้คือ ดึง"ชุมชน" เข้ามามีส่วนร่วมที่นี่ก็เช่นกัน นพ.จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการ รพ.สารภีฯ เผยว่า ทางโรงพยาบาลมีการนำเอา ศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านและความรู้จาก ท้องถิ่น มาร่วมในการฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุ ลดบทบาทของการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นรักษา ด้วยยามาเป็นการเยียวยาด้วยความรู้สึกจากผู้ให้บริการ เน้นการรักษาด้วยการบำบัดโดยเคลื่อนไหวร่างกายและใช้สมุนไพร


ผอ.รพ.สารภีฯ กล่าวว่า แม้การรักษาแบบนี้จะเห็นผลช้ากว่าการใช้ยาที่มีราคาแพง แต่ในระยะยาวกลับให้ผลดีทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย การสัมผัสกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่ต่างฝ่ายต่างปฏิสัมพันธ์กัน คนไข้จะรู้สึกว่าแพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่และเป็นกันเอง ลดเส้นแบ่งระหว่างหมอกับคนไข้ ทำให้ผู้ป่วยให้ความ ร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อใช้ยาน้อยลง ความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยาก็ลดลงด้วย เช่น ไตทำงานได้ดีขึ้น


จากการเยี่ยมชมครั้งนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ให้ข้อคิดว่า วิธีการของ รพ.สารภีฯ เป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยในระยะรอยต่ออย่างก้าวหน้า แต่จะทำอย่างไรให้สามารถขยายวิธีคิดและถ่ายทอดความสำเร็จดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการดึงคนหนุ่มสาวที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยของการเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เข้ามาร่วมเรียนรู้และออกแบบระบบรองรับกับการเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นการเจ็บป่วยเรื้อรังและภาวะทุพพลภาพต่างๆ


หากไม่ป้องกันไว้ก่อน…อาจจะหมายถึงการสูญเสียงบประมาณมหาศาลที่รัฐต้องใช้ในการดูแล!!!

Shares:
QR Code :
QR Code