รพ.สต.แหลมบัว ส่งเสริมสุขภาพตำบล

สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้ผู้ป่วย

 

 

 รพ.สต.แหลมบัว ส่งเสริมสุขภาพตำบล

 

          ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า เสียงหัวเราะตามด้วยเสียงทักทายอย่างมีมิตรไมตรีดังออกจากปากของคุณยายละมูล มีสายญาติ ผู้ปวยโรคเบาหวาน วัย 71 ปี ทันทีที่สายตาเหลือบแลเห็นคณะเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ย่างเท้าก้าวผ่านรั้วบ้านเข้าสู่แคร่บริเวณที่คุณยายนั่งอยู่ เพื่อมาทำแผลอักเสบที่เท้าซึ่งมีขนาดใหญ่มากพร้อมกับการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ

 

          ไม่น่าเชื่อว่าคุณยายละมูลคนที่ในวันนี้มีแต่ความยิ้มแย้ม แจ่มใส จะเป็นคนเดียวกับคุณยายในวันวานที่มีแต่ความเศร้าหมอง

 

          น.ส.สุนิน มีสายญาติ วัย 36 ปี บุตรสาวคุณยายละมูลเล่าย้อนอดีตว่า แม่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมานานถึง 30 ปี ตั้งแต่เธอจำความได้ก็เห็นแม่ป่วยแล้ว จนวันหนึ่งเมื่อปี 2552 แม่โดนหนามตำเป็นแผลเล็กนิดเดียว แต่ปรากฏว่าแผลไม่หาย กลับบวมขึ้นและรู้สึกเจ็บมาก จึงพาไปหาหมอที่ รพ.สต. ก่อนจะถูกส่งไป รพ.ห้วยพลู และต่อไปยัง รพ.นครปฐม

 

          ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกัน น้องชายของแม่เสียชีวิต ทำให้ทุกข์ใจ เครียดมาก น้ำตาลในเลือดสูง และแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดด้วย ต้องนอนรักษาตัวภายในห้องไอซียูนานถึง 3 เดือน แม้แพทย์จะอนุญาตให้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่แม่ก็ยังนั่งซึมเศร้าทุกวัน ขณะที่ก็ต้องเดินทางไปทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวันเช่นกัน

 

          กระทั่งหมอวิโรจน์และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เดินทางมาเยี่ยมและดูแลที่บ้านบ่อยๆ ทำให้แม่ค่อยๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ไม่เครียด และทานข้าวเพียง 1 ถ้วยต่อมื้อและเน้นกินปลา ผักเป็นหลักตามที่หมอแนะนำ น้ำตาลในเลือดก็ไม่สูงขึ้น เว้นเพียงแผลที่เท้าเท่านั้นที่ยังรักษาไม่หายต้องล้างแผลเสมอๆ

 

          “แม่เพิ่งจะกลับมายิ้มและหัวเราะได้เมื่อไม่กี่เดือน นอกเหนือจากกำลังใจที่ดีของคนในครอบครัวแล้ว ก็ยังมีหมอวิโรจน์และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของ รพ.สต.แหลมบัว ที่คอยแวะเวียนมาทำแผล แนะนำการปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วยเบาหวานและพูดคุยสัพเพเหระกับแม่เสมอๆ ทำให้แม่มีจิตใจที่ดีขึ้น” น.ส.สุนิน กล่าวถึงที่มาที่ทำให้คุณยายละมูลกลับมามีกำลังใจที่เข้มแข็งอีกครั้ง

 

          ทุกวันนี้ คุณยายละมูลเชื่อฟังคำแนะนำของหมอวิโรจน์อย่างมาก บอกให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไรที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจะปฏิบัติตามทั้งหมด และแม้คุณยายยังต้องเดินทางไป รพ.นครปฐมเพื่อรับยาเบาหวานมารับประทาน แต่ก็ไปเฉพาะวันที่แพทย์นัดเป็นครั้งคราว ไม่ต้องเดินทางไปทำแผลทุกวันเสียเวลาเป็นวันๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

 

          “โอ้ย เมื่อก่อนเคยบอกให้หมอที่โรงพยาบาลเขาตัดขาเสียให้รู้แล้วรู้รอด เพราะต้องเดินทางไปทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวัน ลำบากมากต้องนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์กันไปสองคนตายาย กลัวมากว่าจะถูกรถสิบล้อหรือรถใหญ่เสยเข้าสักวัน แต่ตอนนี้มีหมอวิโรจน์และหมออื่นๆ เขามาทำแผลให้ถึงบ้าน และเรายังเดินได้ ทำงานปลูกต้นไม้ที่ชอบในบริเวณบ้านได้ ขณะที่เพื่อนๆ หลายคนถูกตัดขาไปแล้ว ก็ไม่คิดที่จะให้หมอเขาตัดขาทิ้งอีก มีหมออยู่ใกล้ๆ เราก็อุ่นใจ” คุณยายละมูล กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

          หมอวิโรจน์ของคุณยายละมูล แท้จริงคือ นายวิโรจน์ ทองเกลี้ยง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.แหลมบัว โดยนายวิโรจน์ กล่าวว่า ตามปกติผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า หากไม่มีการปฏิบัติตัวที่ดี ปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ก็มักจะถูกตัดขาทิ้งภายใน 1 ปี แต่คุณยายละมูลปฏิบัติตัวดีมาก

 

 รพ.สต.แหลมบัว ส่งเสริมสุขภาพตำบล

 

          นายวิโรจน์ บอกด้วยว่า นอกเหนือจากภารกิจเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจและอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ปัจจุบันในพื้นที่รับผิดชอบมีประมาณ 4 – 5 คน ที่เจ้าหน้าที่ต้องสลับสับเปลี่ยนกันลงพื้นที่ เพื่อติดตามการกินยาวัดความดัน สอบถามความเป็นอยู่อาหารการกินและสภาพจิตใจแล้ว รพ.สต. แห่งนี้ยังให้บริการคลินิกโรคเรื้อรัง คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกฝากครรภ์ และคลินิกสุขภาพเด็กดีและห้องส่งเสริมพัฒนาการด้วย

 

          โดยมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 50 – 60 ราย เว้นคลินิกโรคเรื้อรังเฉลี่ยวันละ 90 – 110 ราย และรวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ ปลูกผักและรับประทานผักปลอดสารพิษ รณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง และเสนอให้ อบต. มีการจัดสนามกีฬาประจำหมู่บ้านและสนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาเป็นประจำทุกปี

 

          “หลังจากที่ รพ.สต.แหลมบัวได้รับการยกระดับจากสถานีอนามัย (สอ.) เมื่อต้นปี 2552 นอกจากงบฯที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว ยังได้จัดให้มีการทอดผ้าปาสามัคคี ได้เงินมาจัดซื้อเครื่องมือที่จำเป็น จากเดิมสมัยเป็น สอ. ไม่ค่อยมีคนไข้ เพราะชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญ คิดว่าไปโรงพยาบาลดีกว่า ปัจจุบันกลับเป็นตรงกันข้าม ชาวบ้านไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะต้องเสียเวลาเดินทางและรอคิวนาน มา รพ.สต. ดีกว่า เป็นการสร้างศรัทธากลับสู่ชาวบ้านอีกครั้ง” นายวิโรจน์กล่าว

 

          รอยยิ้ม เสียงหัวเราะและคำบอกกล่าวของคุณยายละมูล ผู้ใช้บริการ รพ.สต. เป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้อย่างดี เชื่อว่ายังมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. อีกหลายแหล่งที่มุ่งมั่นกับการทำงานจนประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนเฉกเช่น รพ.สต.แหลมบัว ซึ่งรายการ “อโรคา เรียลลิตี้” สุขภาพดี ทุกตำบล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเวิร์คพอยท์ฯ ติดตามการดำเนินงานและนำเสนอผ่านรายการ ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

 

          อีกรูปแบบในการติดตามชีวิตการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทั่วประเทศ ที่ทุ่มเทกายใจในการทำงานแลกรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของพี่น้องในพื้นที่

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update : 07-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code