รพ.จุฬาฯ เปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง’

ที่่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


รพ.จุฬาฯ เปิด 'ศูนย์การเรียนรู้ฯ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง' thaihealth


ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว "ศูนย์การเรียนรู้ และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง"


โดยมี ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริการศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด  ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ Noninvasive โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมพิธีเปิด ณ ศูนย์โรคหัวใจ ชั้น 4 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศริญญา ภูวนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทย ว่า โรคหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย รองจาก โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคปอด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงถึง 18,922 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง


โดยโรคหัวใจที่สำคัญมีดัวยกันหลายประเภท ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาการของโรคหัวใจ มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงอาการเหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัดต้อง ลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอกซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติ ที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นลมแดด หรือการยืนนาน หรืออาจถึงกับเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่มีอาการนำมาก่อนเลยก็ได้ อาจเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง"


สำหรับการรักษาโรคหัวใจในแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคหัวใจคือต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคหัวใจประเภทไหน และรุนแรงระดับใด และการวินิจฉัยดังกล่าวต้องมีความแม่นยำ เพราะอาจมีผลต่อชีวิตผู้ป่วยและการรักษาได้ ซึ่งการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจของแพทย์เป็นวิธีการนำมาซึ่งการวินิจฉัยโรคหัวใจที่ดี แต่บ่อยครั้งอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดมากขึ้น ปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มเติมทางด้านหัวใจหลายประเภท และมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือ EKG; การตรวจวิ่งสายพานหรือ Stress Test; การตรวจทางภาพถ่ายรังสีแบบธรรมดา จนถึง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ CT scan cardiac MRI; การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ  และการตรวจที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography)"


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ Noninvasive โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echo ) เป็นการทำแบบสามมิติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งแพทย์โรคหัวใจในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ดังกล่าวยังมีน้อย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์โรคหัวใจ จึงร่วมกับบริษัท ฟิลิปส์ ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้และอบรมฯ ขึ้น เพื่อฝึกอบรมให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสเรียนรู้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ได้ฝึกลงมือปฏิบัติจริง ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจวินิจฉัย และรองรับการฝึกอบรมการตรวจวินิจฉัยใหม่ๆ ในอนาคต สำหรับโปรแกรมการฝึกอบรม เราตั้งใจให้เป็นไปในลักษณะกลุ่มเล็ก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแชร์ประสบการณ์ ถาม-ตอบ ไปพร้อมๆ กับการบรรยาย การเรียนรู้การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ และการลงมือปฏิบัติจริงได้มากที่สุด ซึ่งเราตั้งเป้าว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยได้ปีละ 30 คน และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการช่วยเหลือ ผู้ป่วยโรคหัวใจของประเทศไทยได้มากขึ้น"


ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้และอบรม การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็น 1 ใน 2 แห่ง ที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็น ศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูงแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีความพิเศษสามารถตรวจผู้ป่วยจริงได้ด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ใน โรงพยาบาล ประกอบด้วย 3 ห้อง คือ ห้อง Live Echo scanning  เป็นห้องสำหรับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ โดยเป็นการตรวจเพื่อดูหัวใจขณะเคลื่อนไหว บีบตัว และคลายตัว โดยใช้ หลักการ Ultrasound ซึ่งเป็นคลื่นเสียงผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ ทั้งนี้ ยังสามารถสร้างภาพ 3 มิติ แบบ real time สามารถทำให้เห็น พยาธิสภาพของหัวใจอย่างละเอียด ห้องหุ่นสอนการตรวจ สำหรับการเรียนการสอนให้กับ แพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ได้ฝึกใช้เครื่องตรวจ ด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง กับหุ่นจำลอง ก่อนไปปฏิบัติงานจริงกับผู้ป่วย ห้อง 3D workshop สำหรับการเรียนการสอน การทำภาพ 3 มิติ โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และยังสามารถถ่ายทอดภาพจากห้อง Live Echo scanning มาได้อีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code