รพ.จุฬาฯ เปิดตัวคู่มือ ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย

ที่มา :  เว็บไซต์คมชัดลึก


รพ.จุฬาฯ เปิดตัวคู่มือ ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงวัย


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานเสวนาเปิด "ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย" คัมภีร์การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแบบครบวงจร และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงวัยรวมถึงกิจกรรมการแสดงของกลุ่มผู้สูงวัยภายในงาน ณ อาคาร ส.ธ.


ศ.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้การบริการทางการแพทย์ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุต้องการบริการและการดูแลมากขึ้น ขณะที่ต้องเตรียมผู้สูงอายุให้มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษามากขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและประเมินด้านสุขภาวะของผู้สูงวัยที่ต้องมุ่งเน้นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมผู้สูงวัยทุกด้าน เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกคนได้ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีคุณภาพ


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้ มีการจัดตั้ง "กองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย" และจัดสร้าง "อาคาร ส.ธ." เพื่อเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านผู้สูงวัยแบบบูรณาการครบวงจร และเป็นต้นแบบของสังคมไทยในการดูแลผู้สูงวัย จนนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมศักดิ์ศรี เพื่อลดการพึ่งพิงผู้อื่น


กิจกรรมโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เน้นการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงวัยในทุกๆ ด้าน และการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากร ในการนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยจัดทำเป็น "ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย" คู่มือการดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถนำมาใช้อ้างอิงในการดูแลผู้ป่วยตลอดจนการทำวิจัยด้านผู้สูงวัย นอกจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวผู้สูงวัยในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมถึงผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย


นับว่าเป็นคู่มือในการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การดูแลรักษา และฟื้นฟูภาวะต่างๆ ของผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยจะมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประเด็นคำถามในเกือบทุกวงการในประเทศไทย สังคมไทยในอนาคตควรจะมีแนวทาง มาตรการหรือนโยบายอย่างไรในการปรับเปลี่ยนรองรับจำนวนผู้สูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงวัยในประเทศไทย นอกจากไม่เป็นภาระต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าในประเทศไทย


ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งเป็นรากฐานสำหรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคตของประเทศไทยคือ ประเด็นด้านสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขควรร่วมกันสร้างแนวทางการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย และร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยไทย แนวความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจัดทำ ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โดยคาดว่า ตำราเวชศาสตร์สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะช่วยสนับสนุนและเป็นเครื่องมือให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง เรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยไทย และสามารถต่อยอดความรู้โดยการสร้างงานวิจัยด้านผู้สูงวัยต่อไป


ตำราเวชศาตร์ผู้สูงวัย ประกอบด้วยองค์ความรู้ผู้สูงวัย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นองค์ความรู้ความเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของผู้สูงวัย ส่วนที่ 2 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาผู้สูงวัย และแนวทางการดูแลแก้ไข ส่วนที่ 3 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหรือภาวะเฉพาะของระบบต่างๆ ที่เป็นปัญหาของผู้สูงวัย และส่วนที่ 4 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยด้านจิตวิญญาณและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เป็นต้น


นอกจากการจัดทำตาราเวชศาสตร์เพื่อผู้สูงวัยแล้วศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุยังคงมุ่งเน้นตามพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงวัยสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อผู้อื่น มีการจัดตั้ง คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี เพื่อสร้างเสริมการดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงวัยตั้งแต่เริ่มต้น ให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


อ.นพ.ไอศวรรย์ เพชรล่อเหลียน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึง อายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะโรคกลุ่ม NCD เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ซี่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะสมองเสื่อม กุญแจสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคกลุ่มนี้ คือการปรับวิถีชีวิตให้มีความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ด้วยการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร การดูแลอารมณ์ การพักผ่อน และการพบปะสังสรรค์เข้าสังคม ความท้าทายคือทำอย่างไร จึงจะผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ เข้ากับศิลปะในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบุคคลได้


อ.นพ.ภรเอก มนัสวานิช อาจารย์ประจำฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึง การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับวัยสูงอายุ ควรเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย ควบคุมโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรค การฝึกสมอง และการเข้าสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code