รพ.จิตเวชใช้ถุงผ้าใส่ยาแทนถุงพลาสติกเริ่ม1ต.ค.61

ที่มา : กรมสุขภาพจิต 


รพ.จิตเวชใช้ถุงผ้าใส่ยาแทนถุงพลาสติกเริ่ม 1 ต.ค.61 thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต ขานรับนโยบายลดโลกร้อน ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดทั่วประเทศ  ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาปรับเปลี่ยนใช้ถุงผ้าแทน คาดประหยัดงบได้ปีละกว่า 4 แสนบาท เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป  


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานประชุมผู้บริหารกรมสุขภาพจิตประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ที่โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว และกล่าวว่า ในการประชุมในวันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคบริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย และให้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ2562 และได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ ดำเนินการ 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือการลดโลกร้อนสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข  โดยให้โรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 20  แห่งทั่วประเทศ ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วใส่ยาให้ผู้ป่วย ให้ใช้ถุงผ้าใส่ยาแทน ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มักจะมีอาการเรื้อรัง ต้องกินยาต่อเนื่องหลายขนานเพื่อควบคุมการทำงานของสมองให้เป็นปกติ  สามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและชุมชนได้เช่นเดียวผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย  ซึ่งต่อปีโรงพยาบาลจิตจะใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วใส่ยา  30,000 – 800,000 ใบขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ป่วย โดยทุกแห่งจะให้ประชาชนนำถุงผ้าจากบ้านมาใส่ยาไปรับประทานที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป  คาดว่าจะประหยัดงบประมาณได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท   


เรื่องที่ 2 คือการพัฒนาทักษะความสามารถของผู้ช่วยเหลือคนไข้(Paramedics)ในโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา เพื่อยกคุณภาพการดูแลผู้ป่วย เป็นผู้ช่วยแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ได้อย่างเหมาะสมและมีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยจะจัดทำหลักสูตรอบรมและอาจมีการกำหนดให้ได้รับค่าเสี่ยงภัยในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อยกระดับบริการของโรงพยาบาลจิตเวชในยุค 4.0 โดยเน้นบรรยากาศเป็นมิตร บริการอบอุ่น มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้พบแพทย์เร็ว ให้เกียรติและคืนความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์แบบทั้งกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ  กลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวและชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข บุคลากรเจ้าหน้าที่ทุกคนทุกระดับ ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข     


อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อไปว่า สำหรับการติดตามการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2561 ซึ่งเน้น 4 โรคหลักที่พบมาก ในภาพรวมบรรลุเกินเป้าหมาย โดยโรคจิตเภทเข้าถึงร้อยละ 78สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โรคซึมเศร้า เข้าถึงร้อยละ60 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ขั้นต่ำร้อยละ 55 เด็กป่วยโรคออทิสติก เข้าถึงร้อยละ 47 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 4 เท่าตัวและโรคสมาธิสั้น ซึ่งพบเด็กป่วยประมาณร้อยละ5 ขณะนี้การเข้าถึงดีขึ้นคือร้อยละ14  สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้คือร้อยละ 9 ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เร่งเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ได้มากที่สุด  เนื่องจากโรคนี้มียาบำบัดรักษาและปรับแก้ด้านพฤติกรรมให้หายเป็นปกติได้ ซึ่งหากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการบำบัดรักษา เมื่อโตขึ้นอาจมีพฤติกรรมเกเร เป็นอันธพาล ก่อความรุนแรงในสังคมได้ โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดทำเป็นโครงการทศวรรษเพิ่มการเข้าถึงบริการเด็กโรคสมาธิสั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า  ตั้งเป้าภายใน10 ปีนี้ จะให้เด็กเข้าถึงบริการให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ45

Shares:
QR Code :
QR Code