รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ ฟื้นคืนผู้ป่วยจิตเวชสู่ชีวิต “ปกติ”

ที่มา: กรมสุขภาพจิต


รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ ฟื้นคืนผู้ป่วยจิตเวชสู่ชีวิต “ปกติ”    thaihealth


แฟ้มภาพ


          โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พลิกโฉมบริการผู้ป่วยจิตเวช ทั้งอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อม และศักดิ์ศรีของผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์แบบเป็นแบบอย่างโรงพยาบาลจิตเวชยุคใหม่สู่สากล ปรับเปลี่ยนชุดผู้ป่วยเป็นลายผ้าขาวม้าสอดคล้องกลมกลืนท้องถิ่นอีสาน  เอื้อต่อการฟื้นคืนสู่ชีวิตที่เป็นปกติ ที่แผนกผู้ป่วยนอกจัดจิตแพทย์เต็มห้องตรวจทุกวัน  ผู้ป่วยได้พบแพทย์ตรวจรักษาภายใน 26 นาที สร้างความพึงพอใจผู้ป่วยและญาติสูงกว่า 95 %


          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อบ่ายวันนี้  (8  สิงหาคม 2561) ว่า จากการตรวจเยี่ยม ซึ่งเป็นการเยี่ยมแบบวอล์ค อราวด์ ( walk around) คือเดินตรวจเยี่ยมตามจุดต่างๆ ในโรงพยาบาล พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงระบบบริการที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้ป่วยมากขึ้น คือ นึกถึงใจเขาใจเรา ให้เกียรติผู้ป่วยให้เขารู้สึกว่ามีศักดิ์ศรี    จากการสอบถามผู้ใช้บริการที่มาจากหลายจังหวัดเช่นกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม พบว่าประทับใจมาก บอกว่าสถานที่สะอาด สะดวกสบาย ชื่นชมแพทย์และเจ้าหน้าที่ให้บริการอบอุ่น ยิ้มแย้มแจ่มใส  เอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี    


อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า กระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สำคัญมี 4 ขั้นตอนใหญ่ คือ1.การตรวจประเมินคัดกรองปัญหาและอาการของผู้ป่วย 2.การรักษาพยาบาลให้พ้นภาวะวิกฤติ มีทั้งการใช้ยาและหัตการอื่นๆเช่นการปรับคลื่นไฟฟ้าในสมองเป็นต้น 3. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นหัวใจสำคัญของการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วยจิตเวชครบถ้วนทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ ก่อนส่งกลับสู่ครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการหายหรือทุเลาอยู่ที่ขั้นตอนนี้  ไม่ใช่จากยาหรือการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยมีทีมสหวิชาชีพทั้งด้านสังคม จิตวิทยา นักกิจกรรม  นักฝึกพูด  พยาบาล  ร่วมดำเนินการเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ผู้ป่วยจิตเวชขาดหายใปในช่วงที่เจ็บป่วย  ซึ่งจะต้องอาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของผู้ป่วยมากที่สุดทั้งด้านกายภาพ และกิจกรรมฟื้นฟูต่างๆ โดยขณะนี้โรงพยาบาลฯได้ปรับเปลี่ยนชุดของผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นชุดลายผ้าขาวม้า เหมือนคนปกติใส่  กลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  สร้างความรู้สึกที่เป็นสุขให้ผู้ป่วยเหมือนอยู่ที่บ้าน เดินไปไหนมาไหนอย่างมั่นใจ  เป็นการพัฒนาที่น่าชื่นชม  เพราะจะเป็นวิธีการลดการสร้างตราบาปให้ผู้ป่วยด้ว และขั้นตอนที่ 4.เป็นกระบวนการติดตามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในชุมชนหลังจากที่แพทย์อนุญาตให้กลับไปอยู่ที่บ้านว่าอยู่ดีมีสุขอย่างไร จะเริ่มประเมินอย่างจริงจังในปีนี้  ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แบบครบถ้วน ตามมาตรฐานสากล  เป็นแบบอย่างของโรงพยาบาลจิตเวชยุคใหม่ในยุค 4.0 ที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้จริง      


          ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ต่อวันมีผู้ป่วยใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 400-500 คน โรงพยาบาลฯได้จัดจิตแพทย์ออกตรวจเต็มสเกลทุกวัน ปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง การบริการวดเร็วขึ้นผู้ป่วยได้พบแพทย์ภายใน  26 นาที โดยผู้ป่วยต่อคนจะได้รับการตรวจรักษา และได้รับยากลับบ้านภายในเวลาไม่เกิน 120 นาที จากการประเมินผลหลังเปลี่ยนแปลงระบบบริการใหม่  พบว่าประชาชนพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95   ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงอาคารสถานที่พักฟื้นผู้ป่วย  เพิ่มมุมพักผ่อนให้ผู้ป่วยให้มากขึ้น  จัดทำอาคารเพื่อใช้ฝึกอาชีพให้ผู้ป่วย  ปรับปรุงหอผู้ป่วยพิเศษ  คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561 นี้         


สำหรับผลของการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการยุ่งยากซับซ้อนที่จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมีเฉลี่ยวันละ 230 คน จากเตียงที่มีทั้งหมด 250 เตียง มากที่สุดคือผู้ป่วยจิตเภท รองลงมาคือโรคซึมเศร้า ผลการประเมินการรักษา อัตราการหายหรือทุเลาของผู้ป่วยใน 6 เดือน ผู้ป่วยจิตเภทอยู่ที่ 35  % ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ที่ 56  % ประเด็นที่เป็นปัญหาหลักคือผู้ป่วยขาดนัด และกินยาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะได้เร่งแก้ไขปรับระบบร่วมกับสถานพยาบาลในพื้นที่ และให้อาสาสมัครธารณสุขประจำหมู่บ้านร่วมติตตามในหมู่บ้าน ส่วนการบำบัดผู้มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติด สามารถหยุดยาเสพต่อเนื่อง 3 เดือน หลังผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูอยู่ที่  98.67  % 

Shares:
QR Code :
QR Code