รณรงค์ใช้ส้วม“นั่งราบ” รับสังคมสูงวัย

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


รณรงค์ใช้ส้วม“นั่งราบ” รับสังคมสูงวัย thaihealth 

แฟ้มภาพ


กทม.กำหนดภายในปี 59  รณรงค์เมืองกรุงใช้ส้วมแบบนั่งราบ ได้มาตรฐานสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย รองรับสังคมสูงอายุป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม


นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนจากส้วมนั่งยอง เป็นโถส้วมนั่งราบ ทำให้ต้องยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยองนั้น เป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556 โดยมาตรา 3 กำหนดให้ชักโครกต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792-2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ.2554) ซึ่งพระราชกฤษฎีการดังกล่าว มาจากแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ.2556–2559 ที่ต้องการพัฒนาส้วมตามครัวเรือน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ อาทิ ป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐานสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ


อย่างไรก็ตาม ส้วมสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันส่วนใหญ่มีรูปแบบส้วมเป็นแบบนั่งราบ แต่ก็ยังคงมีบางพื้นที่ ที่มีส้วมลักษณะนั่งยอง ซึ่งส้วมสาธารณะกทม จะมุ่งเน้นการดูแลสุขลักษณะในสถานที่สาธารณะ จำนวน 12 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และส้วมริมทาง ตามมาตรการ คือ 1.ส้วมต้องมีความสะอาด 2.ส้วมต้องเข้าถึงง่าย ใช้ได้สะดวกกับบุคคลทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 3.ส้วมต้องมีความปลอดภัย พื้นไม่ลื่นจนเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้


นพ.ชวินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเปลี่ยนรูปแบบส้วมนั่งยองเป็นส้วมแบบนั่งราบนั้น กทม.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการให้ภาคประชาชน หรือภาคเอกชนต่างๆ เปลี่ยนได้ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการให้ความรู้และขอความร่วมมือในการเปลี่ยน ซึ่งส้วมแบบนั่งราบ จะสร้างความสะดวกในการใช้งานมากกว่าส้วมแบบนั่งยอง อีกทั้งขณะนี้กรุงเทพฯก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น การใช้บริการส้วมแบบนั่งราบ จะช่วยสร้างความสะดวกให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้


โดยกำหนดให้ภายในปี 59 กรุงเทพฯจะมีการรณรงค์ให้มีการใช้ส้วมแบบนั่งราบในพื้นที่สาธารณะให้ได้ อย่างน้อย 90เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในโรงเรียนสังกัดกทม. ทั้ง 438 โรงเรียน กทม. ก็จะมีการพัฒนารูปแบบส้วมในโรงเรียน จากส้วมนั่งยอง เป็นส้วมนั่งราบ โดยทยอยการเปลี่ยนส้วมเมื่อหมดอายุการใช้งานต่อไปด้วย โดยในอนาคตเป้าหมายคือโรงเรียนสังกัดกทม.ทั้งหมด จะต้องใช้ส้วมระบบนั่งราบทั้งหมด


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code