รณรงค์เลิกเผาซากพืชลดฝุ่นพิษ แนะไถกลบโปรยสารอีเอ็มย่อยสลาย
ที่มา : แนวหน้า
แฟ้มภาพ
รณรงค์เลิกเผาซากพืชลดปัญหาฝุ่นควัน แนะ “ผลาญ 3 ผลาญ 4” คือ การไถกลบด้วยจอบ หรือรถไถ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 6 และเป็นประธานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดกรมฝนหลวงฯว่า กรมฝนหลวงฯ ตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร โครงการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ก่อให้เกิดประโยชน์สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ ส่งผลให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงพึ่งพาตนเองได้
นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น กรมฝนหลวงฯขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการขึ้นบินฝนหลวงจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ 1.มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในระดับร้อยละ 60-70 และ 2.ค่าการยกตัวของเมฆ ถ้าติดลบ และความชื้นสัมพัทธ์มาก ก็ปฏิบัติการฝนหลวงได้สำเร็จ โดยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม มีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงถึงร้อยละ 70 และค่าการยกตัวของเมฆติดลบ ทำให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จปริมาณฝนตกตามพื้นที่เป้าหมาย
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยการจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาซากพืช โดยประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนกระทรวงเกษตรฯหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยวิธี “ผลาญ 3 ผลาญ 4” คือ การไถกลบด้วยจอบ หรือรถไถ ในกรณีที่เกษตรกรปลูกข้าวโพด เดิมเมื่อเก็บฝักข้าวโพดเสร็จก็จะนำไปเผา เพื่อเตรียมทำพืชฤดูใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่าเมื่อเก็บข้าวโพดเสร็จจะไถกลบ แล้วโปรยสารอีเอ็มเพื่อย่อยสลายภายใน 15 วันหรือ 1 เดือน ทำให้ดินกลายเป็นปุ๋ย ขณะนี้ได้เผยแพร่วิธีดังกล่าวไปยังเกษตรกรซึ่งเป็นที่นิยม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรเพื่อหันมาลดการเผาให้มากขึ้นดังนั้น ในปี 2559-2561 มีค่าความร้อนของอากาศที่เกิดจากการเผาของซากพืช วัชพืช น้อยหรือแทบไม่มีเลย
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ละปีช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ถึง 200-300 ล้านไร่ รวมทั้งพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน รวมถึงด้านความร่วมมือกับต่างประเทศและการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในต่างแดน สำหรับแผนดำเนินงานปีต่อไป ยังคงขับเคลื่อนโครงการวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยการทำฝนด้วยเทคนิคเผาจากภาคพื้น (Ground Based Generator) รวมทั้ง โครงการวิจัยพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเมฆอุ่นโดยใช้UAV ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ จะปรับขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ และพิจารณาย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มาประจำการ ที่ จ.ตาก เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่ จราจรค่อนข้างแออัด รวมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีกแห่งที่ จ.พิษณุโลกในปี 2563 ตลอดจนเร่งจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง ที่จ.ตาก ลดปัญหาขาดแคลนนักบิน พร้อมรองรับความร่วมมือระหว่างประเทศ และจัดสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ ที่จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งความรู้ด้านงานวิจัย งานวิชาการ เป็นศูนย์อบรมเพิ่มพูนความรู้ให้บุคลากรฝนหลวง และต่างประเทศที่สนใจ รวมทั้งโรงเรียนการบินฯ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่าในปี 2563 จะเป็นรูปธรรม