รณรงค์เปิดปรับเปลี่ยน หยุดความรุนแรงในครอบครัว

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ประจำปี 2558 ตอน "เปิด ปรับ เปลี่ยน" หยุดความรุนแรงในครอบครัว ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


รณรงค์เปิดปรับเปลี่ยน หยุดความรุนแรงในครอบครัว thaihealth


สำรวจความรุนแรงในครอบครัวผ่านมุมมองลูก พบ 85% เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน เผยเสียใจ ร้องไห้ กังวล เครียด ชินชา พบ 6.7% อยากประชดพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยากได้ครอบครัวกลับมาสนิทสนมเหมือนเดิม สสส.ชี้ดื่มเหล้า เล่นการพนัน เกิดทำร้ายร่างกายเพิ่ม 90% ทำลายข้าวของเพิ่ม 124% แนะเปิด ปรับ เปลี่ยน ยุติความรุนแรง


เมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ประจำปี2558 ภายใต้แนวคิด "เปิด ปรับ เปลี่ยน:หยุดความรุนแรง" โดย นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เดือน พ.ย.เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มูลนิธิฯ จึงลงพื้นที่เก็บรวบรวมความคิดเห็นสถานการณ์ปัญหาความรุนแรง โดยสำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในมุมมองของลูกกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จาก 26 โรงเรียน ในพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด และพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่กับพ่อและแม่ โดย 85.1% ยอมรับว่า คนในครอบครัวเคยมีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกัน กิจวัตรประจำวันของคนในครอบครัวที่น่าห่วงคือ  70.6% ติดมือถือ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก  63.4% โต้เถียง ด่าทอ พูดจาหยาบคาย 62.8% พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก 57% คนในครอบครัวดื่มเหล้า/เบียร์/เล่นการพนัน อบายมุข


เมื่อถามถึงความรู้สึกที่พ่อแม่ทะเลาะกัน พบว่า เด็กๆส่วนใหญ่รู้สึกเสียใจ ร้องไห้ กลัวกังวล เครียด เบื่อเซ็ง หมดกำลังใจ หรือมีแม้กระทั่งพบเห็นบ่อยจนชินไปแล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่เด็กๆ เลือกทำเมื่อเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันคือ 23.4% เลือกที่จะเข้าไปห้าม 14.4% เลือกที่จะอยู่เฉยๆ 10% ขอเก็บปัญหาไว้คนเดียวไม่บอกใคร แต่ที่น่าห่วงคือ 6.7% อยากจะประชดพ่อแม่


"เมื่อเด็กๆ เห็นคนในครอบครัวดื่มเหล้าเบียร์  มักจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มตัวอย่างต้องการให้ครอบครัวกลับมามีความสุข สนิทสนมกัน พูดคุยกันทุกเรื่อง มีเวลาให้ครอบครัว มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน รับประทานอาหาร ดูโทรทัศน์ ช่วยกันทำงานบ้าน คอยให้คำปรึกษาลูกๆ คือทุกคนต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ หรืออยากให้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกันอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน ตลอดจนขอให้ใช้เหตุผลมากกว่าการทำโทษ พูดคุยกันให้มากขึ้น ที่สำคัญคือเด็กๆอยากให้พ่อแม่เลิกดื่ม เลิกพนันและอบายมุข" นายสิทธิศักดิ์ กล่าว


นางเล็ก หนึ่งในเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เปิดเผยว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สามีไปมีภรรยาน้อยอีกบ้านหนึ่ง ทำให้เกิดความหึงหวงโดยถูกสามีทำร้ายทุบตีอยู่บ่อยครั้ง และความรุนแรงดังกล่าวถ่ายทอดไปสู่ลูกซึ่งกลายเป็นคนระแวงโดยตลอด เวลาเกิดเสียงดังจะทำให้ลูกคิดว่าตนถูกทำร้าย สาเหตุดังกล่าวทำให้ลูกผลการเรียนตกไปจากเดิมมาก ประกอบกับการกระทำของสามีที่รุนแรงมากขึ้น จึงตัดสินใจหย่าขาดและแยกกันอยู่กับสามี โดยมีลูกเป็นกำลังใจที่คอนอยู่เคียงข้างมาเสมอ


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า การรณรงค์ยุติความรุนแรงปีนี้มุ่งเน้นและรณรงค์เปิดปรับเปลี่ยน หยุดความรุนแรงในครอบครัว thaihealthสะท้อนปัญหาความรุนแรงจากครอบครัวที่ตกถึงลูกเพื่อให้สังคมเข้าใจและนำปัญหาดังกล่าวมาแก้ไข ผ่านแนวคิด เปิด ปรับ เปลี่ยน พฤติกรรมที่ส่งเสริมและมุ่งเน้นให้เกิดความรุนแรงต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นเรื่องของการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงและได้รับการแก้ไขโดยมีกระบวนการเยียวยาและแนวทางแก้ไขที่ดีขึ้น แต่ปีนี้แนวโน้มการกระทำความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะทำให้เด็กได้รับผลกระทบในอนาคต ทุกฝ่ายต้องช่วยกันยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ


นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่าครอบครัวมีความขัดแย้งหลายระดับ ตั้งแต่การทะเลาะด่าทอพูดจาหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งครอบครัวที่ดื่มเหล้าเบียร์หรือเล่นพนันมีโอกาสขัดแย้งมากขึ้น มีผลทำให้ทะเลาะเพิ่มขึ้น 14% ด่าทอเพิ่มขึ้น 46% ทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 90% และทำลายข้าวของเพิ่มขึ้น 124% อย่างไรก็ตาม ต้องรณรงค์เชิญชวนให้ทุกครอบครัวเกิดแนวความคิด "เปิด ปรับ เปลี่ยน" เพื่อยุติความรุนแรง เพราะจากสถิติดังกล่าว เด็กจำนวนมากที่เติบโตในครอบครัวที่มีความขัดแย้ง สภาพแบบนี้ทำร้ายจิตใจเด็ก ซึ่งหากมองในมุมหนึ่งจะพบว่าความรุนแรงในครอบครัวเหล่านี้มีสภาพเสมือนโรคติดเชื้อกระโดดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกและไปสู่รุ่นต่อๆไปไม่สิ้นสุด เด็กจะรู้สึกเจ็บปวด จนชาชิน มองเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาเมื่อเติบโตขึ้น รวมถึงการดื่มเหล้าเบียร์หรือเล่นการพนันจะเพิ่มโอกาสก่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก


ภายในงานได้มีกิจกรรมการแสดงละครสั้น ชุด  "เปิด ปรับ เปลี่ยน หยุดความรุนแรง" โดยทีมเฉพาะกิจ รวมทั้งการแสดงจาก เด็กๆ จากโรงเรียนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. ร่วมร้องบทเพลง "เจ้าสีเสื้อเอย" เพื่อสะท้อนการปกป้องเด็กและเยาวชนและ เด็กๆ จากโรงเรียนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กทม. ร่วมแจกสติ๊กเกอร์รณรงค์ "เปิด ปรับ เปลี่ยน : หยุดความรุนแรงในครอบครัว" ให้กับคนที่สัญจรไปมา


 


 


ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า 


ภาพประกอบจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ