รณรงค์ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
โครงการรณรงค์ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2561 ศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดการประชุมฝึกอบรมโครงการรณรงค์ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2561 ภายใต้กิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 7”
ที่ห้องประชุมสุธาสิโนบล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมฝึกอบรมโครงการรณรงค์ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2561 ภายใต้กิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 7” พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.สิทธิชัย วนจันทรรักษ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงานถึงสถานการณ์อัตราการเกิดทารกพิการแต่กำเนิดร้อยละ 3-4 มากถึงประมาณ 30,000 คนต่อปีของประเทศไทย โดยเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1.สิ่งแวดล้อมในครรภ์ เช่น แม่ดื่มเหล้า ติดยาเสพติด สูบบุหรี่ เป็นต้น และ2.ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญ กรณีที่มีความพิการทางพันธุกรรมที่ไม่แสดงออกให้เห็นในพ่อแม่ แต่ “ซ่อน” อยู่ภายในยีนของพ่อแม่
ทั้งนี้ศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) และสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย จัดโครงการรณรงค์ป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2561 ภายใต้กิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 7”ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลตอย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถสื่อองค์ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดไปสู่วัยสตรีเจริญพันธุ์ในอำเภอเป้าหมายหลัก 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฝาง อำเภอจอมทอง อำเภอแม่ออน และอำเภอแม่แจ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินการแบบบูรณาการของบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยพิการแต่กำเนิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่า ความพิการแต่กำเนิดสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานโฟเลตหรือกรดโฟลิก ซึ่งเป็นวิตามินบี 9 เป็นประจำทุกวัน วันละ 400 ไมโครกรัม ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดได้ นอกจากนั้นกิจกรรมภายในงานมีการมอบเกียรติบัตรแก่มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศล รวมถึงการประชุมปฏิบัติการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ เรื่องการวางแผนก่อนตั้งครรภ์ด้วยโฟเลต, รู้จริงเรื่องโฟเลต, มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต , นโยบายและแนวทางการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กจังหวัดเชียงใหม่ , ก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนของมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต , และโฟเลตกับคุณภาพชีวิตของคนไทย เป็นต้น