ย้ำผู้ประกอบอาหารเคร่งครัดหลักสุขาภิบาลอาหาร ลดเสี่ยงอุจจาระร่วง

ที่มา : กรมควบคุมโรค


ย้ำผู้ปรุงประกอบอาหารเคร่งครัดหลักสุขาภิบาลอาหาร ลดเสี่ยงอุจจาระร่วง thaihealth


แฟ้มภาพ


ห่วงใยสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะสถานศึกษาหลายแห่งอยู่ในระหว่างการจัดกิจกรรมเข้าค่าย อาจมีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากอากาศร้อนอาหารบูดเสียง่าย เชื้อโรคเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อปรุงประกอบอาหารแล้วไม่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิทั่วไปเกินกว่า ๒ ชั่วโมง


นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น แสดงความเป็นห่วงต่อการเจ็บป่วยจากโรคอุจจาระร่วงที่เกิดขึ้นเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมเข้าค่าย การจัดอาหารในงานเลี้ยง หรือการจัดอาหารสำหรับให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงมักเกิดจากอาหารที่ปรุงประกอบไม่ถูกสุขลักษณะและมีการปนเปื้อนเชื้อโรค เกิดการบูดเสียระหว่างรอการแจกจ่าย เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และเก็บไว้นานเกินกว่า ๒ ชั่วโมง สำหรับสถานการณ์เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงในพื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด นับตั้งแต่วันที่  ๑ –  ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓    สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗  จังหวัดขอนแก่นได้รับรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวนทั้งสิ้น ๒,๔๖๘ ราย  พบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย    ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จากข้อมูลเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบเมนูอาหารที่มักเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงที่พบได้ทุกปี มี ๑๐ เมนู ได้แก่   ลาบหมู ก้อยปลาดิบ  ยำกุ้งเต้น  ยำหอยแครง  ข้าวผัดโรยเนื้อปู อาหารและขนม ที่ราดด้วยกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่  ส้มตำ สลัดผัก น้ำแข็ง 


จึงขอเน้นย้ำโดยเฉพาะเมื่อมีการปรุงประกอบอาหารและน้ำดื่มในปริมาณมาก ควรมีการให้ความรู้แก่ผู้ปรุงประกอบอาหาร ให้ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด คือ


  1.  จัดระบบโรงครัว โรงอาหาร ระบบน้ำ การกำจัดขยะ โดยการกำกับติดตามให้ผู้ประกอบการหรือ ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด

  2. เลือกใช้วัตถุดิบ เครื่องปรุงประกอบที่สะอาด ถูกสุขอนามัย มีการเก็บรักษา คงสภาพด้วยความเย็นตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย

  3. อาหารที่มาในรูปแบบของอาหารกระป๋องหรืออาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว ควรตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำไปแจกจ่าย

  4. อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก ควรเลือกเมนูอาหารประเภททอด ไม่มีส่วนผสมของแป้ง กะทิ และควรบริโภคภายใน ๒ ชั่วโมง นับตั้งแต่ปรุงประกอบเสร็จ ที่สำคัญบนกล่องบรรจุอาหาร ต้องติดป้ายแสดงสถานที่ วัน/เวลาที่ผลิต และวันเวลาที่ควรบริโภค หากพบว่าอาหารผิดรสชาติ มีกลิ่นผิดปกติ ควรแจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบทันทีเพื่อระงับการแจกจ่ายอาหารนั้น


สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”  คือ  กินสุกร้อนโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน   ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากการใช้ห้องส้วม รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง 

Shares:
QR Code :
QR Code