ย้ำนายจ้าง ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าศูนย์ OSS

ที่มา : แนวหน้า


ย้ำนายจ้าง ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าศูนย์ OSS thaihealth


แฟ้มภาพ


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งทำความเข้าใจกับนายจ้างเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมาว่าให้ไปตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS)


นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งทำความเข้าใจกับนายจ้างเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมาว่าให้ไปตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ก่อนแล้วจึงนำใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐานยื่นที่ศูนย์ฯ ต่อไป โดยในกรุงเทพมหานครแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพได้ในโรงพยาบาล 7 แห่งคือ 1. โรงพยาบาลกลาง  2. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี  3. โรงพยาบาลเลิศสิน  4. โรงพยาบาลราชวิถี  5. โรงพยาบาลตากสิน  6. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  และ 7. โรงพยาบาลวชิระ


ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ได้เปิดให้แรงงาน กัมพูชา ลาวเมียนมา 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 แรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ที่พิสูจน์สัญชาติและยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบัตรหมดอายุเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มที่ 2 แรงงานที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) แบ่งเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้วและได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และกลุ่มที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ มีเพียงใบจับคู่เท่านั้นและได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และกลุ่มที่ 3 แรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีทั้งกรณีที่พิสูจน์และไม่พิสูจน์สัญชาติ  เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


ภายในศูนย์ฯ มีขั้นตอนคือ  ขั้นตอนที่ 1 จุดคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารหากครบถ้วนจะให้บัตรคิว ขั้นตอนที่ 2  กรมการปกครองจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ กำหนดเลข 13 หลัก ถ่ายรูปใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ ค่าใช้จ่าย 80 บาท  ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) ให้อยู่ในราชอาณาจักร ค่าใช้จ่าย 500 บาท ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติไม่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ ข้ามไปขั้นตอนที่ 3 ได้เลย  ขั้นตอนที่ 4 กรมการจัดหางานอนุญาตให้ทำงาน แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 แรงงานประมง : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 1 พฤศจิกายน 2562 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท  กลุ่มที่ 2 ใบจับคู่ :  ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท ส่วนพิสูจน์สัญชาติแล้วและใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 30 ธันวาคม 2560 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 2,225 บาท ส่วนกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 31 มีนาคม 2561 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท  และกลุ่มที่ 3 บัตรสีชมพู : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 325 บาท หากพิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท  ขั้นตอนที่ 5 สำนักงานประกันสังคมขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการของนายจ้างที่เข้าประกันสังคมและแรงงานต่างด้าวที่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว  กระทรวงสาธารณสุขทำประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 ทำงานในกิจการที่เข้าข่ายประกันสังคม และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ต้องทำประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองก่อนเกิดสิทธิประกันสังคม 3 เดือน ค่าใช้จ่าย 500 บาท กรณีที่ 2  ทำงานในกิจการไม่เข้าข่ายประกันสังคม (ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการประมง) ทำประกันสุขภาพ 2 ปี ค่าใช้จ่าย 3,200 บาท  และขั้นตอนที่ 6 ชำระค่าบริการ (ค่าขึ้นทะเบียนประวัติ , ค่าตรวจลงตรา , ค่าใบอนุญาตทำงาน , ค่าประกันสุขภาพ) และรับบัตรประจำตัว/ใบอนุญาตทำงาน


เอกสารที่ใช้คือ นายจ้างเตรียมเอกสารได้แก่ 1. สำเนาบัตรประชาชน  2. สำเนาทะเบียนบ้าน  หากนายจ้างเป็นนิติบุคคลใช้สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทและทะเบียนบ้าน  3. ท.บ.1 ส่วนแรงงานต่างด้าว เตรียมเอกสารได้แก่ 1. ใบจับคู่ หรือ บัตรสีชมพู  2. เอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ เช่น CI TD 3. ใบรับรองแพทย์ 4. สำเนาบัตรประกันสังคม (ถ้ามี) สำหรับสถานที่ตั้งศูนย์ OSS มี 78 ศูนย์ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 2 แห่งคือที่ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ หลักสี่พลาซ่า เขตหลักสี่ และอาคารเพชรเกษมทาวเวอร์ เลขที่ 1759/3 ถ.เพชรเกษม เขตบางแค (ใกล้ห้างบิ๊กซี เพชรเกษม) และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ


นายอนุรักษ์ กล่าวเสริมว่า ศูนย์ OSS จะเปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้เท่านั้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 – 10 กุมภาพันธ์ 2561 มีแรงงานมาดำเนินการแล้ว 29,420 เป็นกัมพูชา 11,652 คน  เมียนมา 14,901 คน  ลาว 2,867 คน ทั้งนี้ รมว.แรงงาน กำชับให้นายจ้างรีบพาแรงงานมาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ตั้งแต่บัดนี้ อย่ารอให้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพราะหากมาในช่วงใกล้หมดเวลาอาจไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว หากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นทื่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Shares:
QR Code :
QR Code