ย่างเลาะ เซาะเบิ่ง เซาะกิน
ที่มา : แฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ภาพประกอบจากแฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม
ชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้ ต้องประกอบด้วยกลุ่มผู้นำที่มีความสามารถ มีเป้าหมายชัด มีแผนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของสมาชิกในชุมชนนั้นๆ
ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชุมชนแห่งหนึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านเกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างไม่บันยะบันยัง สภาผู้นำชุมชนที่นี่จึงพยายามแก้ปัญหา โดยรณรงค์ลดการใช้สารเคมีและส่งเสริมให้ปลูกผักในครัวเรือนไว้กินเอง เมื่อปลูกมากๆ ก็เหลือกิน จึงนำไปขาย สร้างรายได้อีกทาง ขณะเดียวกัน “ผัก” ก็ยังเป็นตัวเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม โดยนำไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีลอยกระทงของชุมชนด้วย
ชุมชนที่ว่า คือ บ้านหาดสองแคว หมู่ 2 ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ บรรยากาศลอยกระทงวันนี้จึงครึกครื้น ผู้คนขวักไขว่ “ย่างเลาะ เซาะเบิ่ง เซาะกิน” บนถนนสายวัฒนธรรมที่ยาวประมาณ 600 เมตร จับจ่ายซื้อของสินค้าอาหารพื้นบ้าน โดยเฉพาะพืชผักที่ชาวบ้านแต่งกายแบบลาวเวียงมานั่งขาย ซึ่งผักทุกกอ ไม้ทุกผล ล้วนปลอดสารพิษ ขณะเดียวกัน ก็นำผักที่ปลูก มาตกแต่งกระทงอย่างสวยงาม ทำเป็น “กระทงสีเขียว” อีกด้วย
กิจกรรมสร้างสรรค์และสวยงามนี้ เป็นผลมาจากโครงการลดการใช้สารเคมีในชุมชน หลังจากบ้านหาดสองแควเข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ประจำปี 2560