ยุววิจัย ปราชญ์ตัวน้อย ร้อยเรื่องราว สู่ความรู้คู่เขมราฐ
การเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนคือพันธะหน้าที่ของเยาวชนทุกคนอย่างไม่ต้องสงสัย โรงเรียนเป็นที่บ่มเพาะวิทยาการความรู้ เพื่อเป็นรากฐานของอนาคต ทั้งสำหรับตัวเองและประเทศชาติสืบไป ซึ่งการศึกษาในแต่ละที่ ก็มีความแตกต่าง โดดเด่นกันไปในรายละเอียด อย่างที่โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม แห่งเทศบาลตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่มีการหล่อหลอมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มหนึ่ง ผ่านการทำวิจัย
เยาวชนคนทำวิจัยมีชื่อเรียกน่ารักว่า กลุ่มยุววิจัย ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมการประกวด ‘การเขียนประวัติศาสตร์ด้วยมือเรา’ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีนายสุรวุฒิ ยุทธชนะ อาจารย์ประจำโรงเรียนเขมราฐพิทยาคมเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ยุววิจัย ทั้งนี้ ในก็เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชน ได้รู้จักค้นหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในชุมชนของตนเอง
ในปัจจุบัน เทศบาลตำบลเขมราฐมีระบบการจัดการตนเอง ถึง 8 ระบบ 36 แหล่งเรียนรู้ โดยยุววิจัยเองก็เป็นหนึ่งในระบบการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียน และร่วมกันพัฒนาของคนในชุมชนทุกภาคส่วน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากจุดเริ่มต้น จนถึงเวลานี้ กลุ่มยุววิจัยได้ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 มีผลงานออกมาแล้ว 5 เรื่องด้วยกัน แต่ละเรื่องล้วนผ่านการทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูล ทั้งจากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ในชุมชน ตำราเก่า ไปจนถึงอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาประมวลตามน้ำหนักของหลักฐานที่ได้ สู่ชิ้นงานวิจัยที่เยาวชนจากโรงเรียนเขมราฐพิทยาคมนี้จัดทำขึ้น
เริ่มจาก สนามบินลับเขมราฐกับการกู้ชาติขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการค้นพบจดหมายเก่าฉบับหนึ่ง ที่ระบุถึงสนามบินลับในเขมราฐสมัยสงครมโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการตั้งคำถาม และหาคำตอบของยุววิจัย
ต้นเค้านามชุมชน เป็นเรื่่องของชื่อถนน หมู่บ้านต่างๆ ที่สร้างความสงสัยให้กับกลุ่มยุววิจัย จนเกิดเป็นผลงานวิจัยที่นอกจากจะตอบข้อสงสัยให้กับคณะผู้จัดทำแล้ว ยังช่วยไขความกระจ่างให้กับผู้มีโอกาสได้ไปเยือนเขมราฐ
พิธีอุปสมบทกลางแม่น้ำโขง เป็นเรื่องราวของพิธีกรรมอุปสมบทในสมัยก่อน ซึ่งได้มีกฎสำหรับสถานที่ๆ ใช้ในการอุปสมบทในอดีตกาล ซึ่งไม่มีวัดมากเช่นปัจจุบัน และหนึ่งในไม่กี่สถานที่ดังกล่าว ก็คือในแม่น้ำ
สัญลักษณ์นักล่าอาณานิคม เป็นเรื่องราวของแท่งปูนซึ่งนักล่าอาณานิคมใช้ปักเป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งความตื้นลึกของแม่น้ำ ซึ่งแม่น้ำโขงมีลักษณะเป็นโขดหินอยู่ด้านล่างจำนวนมาก
ไหว้พระสามพี่น้อง เป็นงานวิจัยลำดับล่าสุด ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเขมราฐ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเขมราฐด้วย
โดยนางสาวณิชาบูล ทองบ่อ หรือน้องมีน เป็นตัวแทนของกลุ่มยุววิจับที่ทำงานเรื่อง ไหว้พระสามพี่น้อง พร้อมด้วยเด็กหญิงกวินทิพย์ จงสีหา หรือน้องฝน และเด็กหญิงถิรชาพร เถาว์โมลา หรือน้องดรีม รุ่นน้องที่เข้ามารับช่วงต่อ ผลัดกันมาช่วยบรรยายเรื่องราวของพระสามพี่น้องให้ฟัง
“พระเจ้าองค์หมื่นอยู่ที่วัดอูบมูง เป็นพระองค์น้อง เนื้อดิน พระเนตรเหล็กไหลถูกควักไปก่อนหน้านั้น พร้อมพระเศียรที่ถูกบั่นไปด้วย ที่เห็นปัจจุบันคือพระเศียรที่สร้างขึ้นใหม่ ที่บริเวณพระชงค์ (แข้ง) มีรูกลมๆ สำหรับระบายน้ำที่ขังอยู่บริเวณหน้าตักเวลาที่การสรงน้ำ ส่วนพระเจ้าองค์ตื้อ มีพุทธลักษณะงดงามแบบไม่เหมือนใครเป็นพระปางมารวิชัย ที่เคารพศรัทธาของทั้งชาวไทย และชาวลาว พระเศียรมีขนาดใหญ่เกือบเท่าๆ องค์พระ พระพักตร์กว้างนาสิกแบน แต่มีปีกจมูกกว้าง ขณะที่พระองค์แสนอยู่วัดโพธิ์ในตัวเมืองเขมราฐ เป็นพระปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว ตามประวัติว่าค้นพบโดยแม่ชีขาวชาวลาว ที่อพยพหนีภัยสงครามแต่ครั้งที่ไทยตีศีสัตตนาคนหุต” ยุววิจัยเล่าให้ฟัง
โดยโครงการยุววิจัยนี้ ล้วนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สอดรับกับนโยบายของนายวชิระ วิเศษชาติ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ ที่กำหนดนโยบาย 4 ปี 3 สร้างขึ้น อันก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการต่างๆ ในชุมชนตำบลเขมราฐขึ้นมากมาย โดยชุมชนเพื่อชุมชน ดังที่นายวชิระ กล่าวไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “แนวคิดสำคัญของนโยบายนี้คือ การสร้างคน สร้างงาน และสร้างเมือง”
ยุววิจัยเวลานี้ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่รุ่นที่ 3 ซึ่งจะมาทำงานต่อไป โดยมีผู้ใหญ่ทั้งอาจารย์สุรวุฒิ นายกฯ วชิระ คอยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
นางสาวประภาพรรณ กุลบุตร ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มยุววิจัย ทั้งเป็นรุ่นแรกของกลุ่มยุวิจัย ทำงานงานวิจัยเรื่องสนามบินลับฯ เสริมว่า การทำงานวิจัย นอกจากจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีชิ้นงานเก็บไว้ เป็นสมบัติคู่ชุมชนต่อไป
“สิ่งที่ได้จากการเข้ามาทำงานยุววิจัยคือได้เห็นสิ่งคุณค่าภายในชุมชนที่อยู่รอบตัวเรา เรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างยุววิจัยและยังได้เพิ่มประสบการณ์ในด้านต่างๆ เพราะต้องทำงานร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ภายในเทศบาล รวมทั้งได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนตัวเอง ตลอดจนเผยแพร่เรื่องราวดีๆ เหล่านี้ ให้สังคมได้รับรู้ด้วย” นางสาวประภาพรรณกล่าว
ด้านนายกฯ วชิระ กล่าวเสริมว่า ยุววิจัยทำประโยชน์ให้กับชุมชน ในอนาคตพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และกลายเป็นแหล่งข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ การทำยุววิจัย นอกจากผลงานที่ได้รับ ยังเป็นการเชื่อมโยงโลกของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน กับโลกของเยาวชนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เด็กๆ จะได้เรียนรู้ความสำคัญและการดำรงอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ รู้เคารพอาวุโส
วันนี้ ยุววิจัย กำลังรวบรวมกลุ่มขึ้นใหม่ ทดแทนรุ่นพี่ที่จบออกไป ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะมีผลงานชิ้นต่อไปออกมาให้ชุมชนเขมราฐได้ชื่นชมอีกครั้ง นับเป็นการสร้างคนสร้างบุคลากรอย่างน่ายกย่องของชาวเขมราฐทุกคน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย กฤตพจน พงศ์ถิรประสิทธิ์