ยิ่ง ‘เล่น’ ยิ่ง ‘ดี’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ได้จัดเวทีสัมมนาส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก "เล่นเพื่อชีวิตเด็ก"เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจแนวคิดพร้อมทั้งขับเคลื่อนการทำงานส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็กในประเทศไทย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวในงานสัมนาส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็กว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีการเคลื่อนไหวด้านร่างกายเพียงแค่ 20% ของแต่ละวัน ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ คุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอต่อสมองที่กำลังเติบโตดังนั้นควรเร่งเสริมพัฒนาการ เติมคุณค่าทางโภชนาการทางด้านอาหารให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้าไม่สมวัยส่งผลถึงการศึกษา และการพัฒนาสมอง
"ทาง สสส.เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อน เรื่อง 'การเล่นเพื่อชีวิตเด็ก' เพื่อให้เด็กได้ออกมาเล่นให้เหมาะสมกับวัยตามสมควรในพื้นที่ธรรมชาติ เพราะการเล่นมีส่วนที่ช่วยเสริมทักษะด้านวิชาการและสร้างสรรค์ รู้จักการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีความเชื่อมั่นและภูมิใจในตนเอง เด็กจะผูกพันกับธรรมชาติและชุมชนสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีการเรียนที่ดีขึ้นเพราะเมื่อได้เล่น คลื่นสมองและประสาทจะถูกกระตุ้น เด็กจะมีความสุข สนุกสนานในการเรียนรู้ นอกจากเด็กแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และหน่วยงานอีกหลายๆ ฝ่ายต้องช่วยเหลือแลกเปลี่ยนและสร้างรูปแบบการเล่นให้กับเด็ก ทั้งในโรงเรียน ที่บ้านสวนสาธารณะ ที่เน้นส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้ครบทุกมิติทั้ง กาย ใจ ปัญญา และสังคมต่อไป" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า การเล่นของเด็กไม่ใช่สิ่งที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้กำหนดเท่านั้น จะต้องเป็นทุกฝ่ายในสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้นในการจัดเวทีกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการทบทวนเรื่องการเล่นของเด็ก และหาแนวทางร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเกี่ยวกับเด็กให้เกิดพลังมากที่สุดพร้อมระดมความคิดเห็นเพื่อการส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็กในประเทศในหัวข้อ การเพิ่มพื้นที่เล่นของเด็กในบ้าน ชุมชน สถานศึกษาและพื้นที่สาธารณะ
"จากข้อมูลของ Childwise สถาบันวิจัยด้านเด็กและวัยรุ่นของอังกฤษพบว่า เด็กทั่วโลกใช้เวลากับสื่อ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสายตาเพราะดูคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน สายตาสั้นเพิ่มขึ้น 30% กระทบไปถึงร่างกายที่พักผ่อนไม่เพียงพอทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูง มีพัฒนาการที่ล่าช้า และทางการแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่า การเล่นจะช่วยให้เด็กฉลาด แข็งแรง อารมณ์ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นการส่งเสริมเด็กให้มีการเล่นนั้นถือเป็นการเรียนรู้อีกหนึ่งรูปแบบ ยกตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการศึกษา มีกระบวนการสอนโดยการให้เด็กเรียนภาควิชาการครึ่งวัน และให้เล่นอีกครึ่งวัน แต่เด็กจะต้องมีคำตอบให้ครูว่าการเล่นให้ประโยชน์และสอนอะไรบ้างส่งผลให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขและพร้อมเปิดรับเนื้อหาภาควิชาการมากขึ้นซึ่งกระบวนการสอนแบบนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทยเท่าที่ควร ถือเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันและขับเคลื่อนทำความเข้าใจเพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์จากการเล่นอย่างถูกต้องมากขึ้น" นางสาวเข็มพร กล่าว
การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ออกแบบการเล่นเอง และเปิดโอกาสให้แสดงศักยภาพเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการทำงานเกี่ยวกับสิทธิการเล่นของเด็กมากที่สุด Ms.Kath Wong รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ (IPA Vice President) กล่าวว่า องค์กร IPA เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร จัดตั้งขึ้นที่ประเทศฮ่องกงโดยมีแนวทางผลักดันนโยบายด้านสิทธิการเล่นของเด็ก (Play right)ในระดับนานาชาติตอนนี้มีประเทศสมาชิกกว่า 50 ประเทศ ที่เห็นความสำคัญของการเล่น โดยมี 4 หัวข้อหลักในการขับเคลื่อนประกอบด้วย 1.การเล่นที่อิสระของเด็กคืออะไร 2.การเล่นของเด็ก3.สิทธิการเล่นของเด็ก 4.ความสำคัญของการเล่น
ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนสิทธิเด็กเป็นเรื่องยาก เนื่องจากถูกกำหนดด้วยผู้ใหญ่รวมถึงมีมุมมองเรื่องการเล่นของเด็กเป็นความซับซ้อนและขับเคลื่อนได้ล่าช้า
แต่ก็ประจักษ์ว่าการสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กด้วยการเล่นตามธรรมชาติส่งผลให้เด็กเรียนรู้อย่างเห็นได้ชัด นางอุไรวรรณ นุตตะโยธิน (ครูหม่ามี้) หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอินดารุลมีนา เล่าด้วยความประทับใจว่า ตนเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเรื่องการเล่นของเด็ก ตนเองเลี้ยงลูกผ่านการเล่นและสังเกตพฤติกรรมลูก พบว่าทำให้ลูกรู้จักคำว่าขอโทษการทักทายสวัสดี การให้อภัย โดยที่ตนไม่ต้องบังคับแต่ก็มีเพื่อนร่วมงานหลายๆ คนหรือชุมชนใกล้เคียงที่เห็นต่างบอกให้ลูกเรียนเหมือนคนอื่นก็ได้หรือให้เล่นโทรศัพท์ก็ได้จะได้สบาย เลิกจากงานแล้วแทนที่จะได้พักแต่ตนมองว่าอยากให้ลูกได้ออกไปหาประสบการณ์ต่างๆ ผ่านการเล่น บวกกับการเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และได้ร่วมโครงการของ สสส. ของ 3Dสื่อดีพื้นที่ดี ภูมิดี จึงนำทุกอย่างมาประยุกต์กับการเลี้ยงลูก พร้อมทั้งนำมาเผยแพร่ในศูนย์เด็กเล็ก