ยิม-ฟิตเนส วิถีใหม่ เน้นป้องกันโควิด-19
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ยิม-ฟิตเนส เริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง อย่างไรก็ตามควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 เช่น หมั่นทำความสะอาดเครื่องออกกำลังกาย มีบริการเจลแอลกอฮอล์ ส่วนผู้ใช้บริการต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ
"กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ" การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายทำให้สุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคภัยเบียดเบียน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานที่ให้บริการด้านการออกกำลังกาย ตั้งแต่สวนสาธารณะ สนามกีฬา ตลอดจน "ยิม-ฟิตเนส" ซึ่งเป็นที่นิยมของ"คนเมือง" เนื่องจากจำนวนมากใช้ชีวิตทั้งทำงานและอยู่อาศัยในห้องหรืออาคาร มีข้อจำกัดด้านสถานที่ เวลาและอุปกรณ์ออกกำลังกาย ต้องหยุดให้บริการตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐเพื่อควบคุมโรคระบาด กระทั่งเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จึงได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง
ในรายการ "เพื่อนกันวันติดโควิด – Home Isolation Friends" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ AIS เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ชวนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงยิมและฟิตเนส มาสะท้อนปัญหาและการปรับตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อาทิ สุเมธ คันชิง ผู้เชี่ยวชาญด้าน SportsMedicine และการออกกำลังกายเพื่อชะลอวัย อธิบายว่า การออกกำลังกายแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.การออกกำลังกายที่ไม่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานหลัก เช่น การเล่นเวท ยกน้ำหนัก
2.การออกกำลังกายที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานหลัก เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักยาน ว่ายน้ำและ 3.การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดเช่น โยคะ ซึ่งการออกกำลังกายที่ไม่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานหลักจะต้องเล่นในโรงยิมหรือฟิตเนส โดยยิมในสวนสาธารณะจะมีความเสี่ยงในเรื่องโควิด-19 น้อยกว่าโรงยิมที่มีเครื่องปรับอากาศ สิ่งจำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้อื่น ซึ่งผู้เล่นยังจำเป็นต้องรู้ว่าช่วงเวลาไหนคนใช้บริการเยอะหรือน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ต้องเลือกเครื่องออกกำลังกายที่มีคนเล่นน้อยที่สุด และต้องฉีดแอลกอฮอล์ทำความสะอาดก่อนใช้งานทุกครั้ง
"สถานการณ์โควิด-19 ทุกคนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การออกกำลังกายที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงานหลักเลยจำเป็นต้องทิ้งระยะห่างจากคนรอบข้างการใส่หน้ากากอนามัยในการออกกำลังกายจะให้หายใจไม่สะดวก และสามารถหมดสติได้ จึงจำเป็นต้องออกกำลังกายให้น้อยลง แต่เมื่อมีคนน้อยหรือไม่มีคน สามารถถอดหน้ากากอนามัยเพื่อได้รับอากาศใหม่ได้ ในส่วนของการออกกำลังกายแบบยืดเหยียดถ้าสามารถทำได้ด้วยตนเองก็ออกกำลังได้ที่บ้าน แต่ถ้าจำเป็นต้องไปที่ยิมก็พยายามหลีกเลี่ยงอยู่กันเป็นกลุ่มของการออกกำลังกายร่วมกัน เพื่อลดการรับเชื้อโรคจากผู้อื่น และแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้าง" สุเมธ กล่าว
ขณะที่ธงชัย โชคถนอมทรัพย์ ผู้บริหาร T3 Fitness เปิดเผยว่า ฟิตเนสเปิดให้บริการมาประมาณ 2 ปี ในช่วง 6 เดือนแรก มีลูกค้าใช้บริการฟิตเนสจำนวนมาก เนื่องจากฟิตเนสเป็นระบบ Open Air และมีราคาไม่แพง โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นพนักงานห้างและออฟฟิศ แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตอนต้นปี 2564 จะมีผลกระทบเป็นอย่างมากในเรื่องของรายได้
"ลูกค้าน้อยลงเนื่องจากกลัวติดเชื้อ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยการสร้างมาตรฐานให้กับพนักงานโดยการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และฉีดวัคซีนให้ครบตามที่กำหนด ในส่วนของเครื่องออกกำลังกายจะต้องทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อส่วนผู้ใช้บริการจะมีการวัดอุณหภูมิมีบริการเจลแอลกอฮอล์ให้ แต่ถ้าผู้ใช้บริการได้รับการฉีดวัคซีนทุกคนจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย" ธงชัย กล่าว
ด้านพรทิพย์ ปลิวอิสสระ Yoga and Me studio ครูโยคะและพิลาทีส และเจ้าของเพจ workoutdelivery กล่าวว่า เทรนเนอร์ฟิตเนสทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกคน เนื่องจากรายได้หลักคือการสอนการออกกำลังกาย ซึ่งเทรนเนอร์หลายคนต้องนำเงินเก็บมาใช้จ่ายในช่วงนี้ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยการสอนออนไลน์ ซึ่งปลอดภัยทั้งผู้สอนและผู้เรียน นอกจากนี้ยังทำคลิปผ่านเพจเฟซบุ๊คการสอนโยคะและพิลาทีส เพื่อผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีพ
"ในส่วนของการเปิดสอนในฟิตเนส จะต้องมีการจำกัดพื้นที่การสอน และจำนวนคลาสเรียนจะต้องน้อยลงด้วย เนื่องจากผู้เรียนมีความหวาดกลัวเรื่องโควิด-19 เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้เรียน พนักงานที่ฟิตเนสทุกคนต้องฉีดวัคซีน และมีการตรวจ ATK ทุก 2 สัปดาห์ และฟิตเนสมีการฆ่าเชื้อทุกวัน ส่วนผู้ที่จะเข้าไปเรียนจะต้องฉีดวัคซีนครบตามที่กำหนด แต่ถ้าหากไม่ได้ฉีดวัคซีนจะต้องมีผลตรวจ ATK มายืนยันก่อนเข้าใช้บริการเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ" พรทิพย์ กล่าว