ยาแก้ปวดหัว

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ยาแก้ปวดหัว thaihealth


แฟ้มภาพ


เนื่องจากอาการปวดหัวมีหลายระดับ ตั้งแต่ปวดเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปวดมากขึ้นๆ จนถึงขนาดปวดรุนแรง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะยาแก้ปวดหัวระดับเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปานกลางเท่านั้น จะไม่ขอกล่าวถึงยาแก้ปวดหัวชนิดรุนแรง ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร


  • พาราเซตามอล 


คำว่า "พาราเซตามอล" (paracetamol) เป็นชื่อที่พวกเรารู้จักกันดี โดยเรียกตามชาวยุโรป แต่ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันจะไม่เรียกยานี้ว่าพาราเซตามอล แต่รู้จักกันในชื่อ "อะเซตามิโนเฟน" (acetaminophen) ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็ตามล้วนเป็นตัวยาเดียวกันทั้งสิ้น ใช้แก้ปวด ลดไข้ และแก้ ตัวร้อน ได้ผลดีและค่อนข้างปลอดภัยเหมือนๆ กัน เพราะเป็นตัวยาเดียวกัน แต่มี 2 ชื่อ แล้วแต่ว่าจะเรียกตามชาวยุโรป หรือตามชาวอเมริกัน ยานี้เป็นยาที่ปลอดภัยถ้ามีการใช้ในขนาดปกติและในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก 4-6 ชั่วโมง และใช้ติดต่อกันไม่เกิน 5-7 วัน ถือว่าเป็นขนาดปกติและปลอดภัยในการใช้ พบอาการอันไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่พบได้น้อย เช่น ผื่น คัน เป็นต้น แต่ถ้ามีการใช้ในขนาดที่สูงกว่านี้ เช่น ในขนาด 10 กรัม หรือ 20 เม็ดของขนาด 500 มิลลิกรัมครั้งเดียว จะเกิดพิษต่อตับได้ ทำให้ตับอักเสบ ดีซ่าน และตับวายได้ เพราะยานี้ในขนาดสูงจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีพิษปริมาณมาก แล้วสารพิษเหล่านี้จะมาทำลายตับ ซึ่งในการใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดปกติ ร่างกายของเราจะสร้างสารพิษนี้ด้วยเช่นกัน แต่มีปริมาณน้อยมากจนไม่มีผลในการทำลายตับ หรือการใช้ในขนาดปกติ ถือว่าปลอดภัย


นอกจากนี้ มีรายงานการเกิดพิษในระยะยาวว่า การใช้ยาพาราเซตามอล วันละ 3 กรัม หรือ 6 เม็ดของขนาด 500 มิลลิกรัม ติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลา 1 ปี มีอาการผิดปกติของตับเกิดขึ้น แต่เมื่อหยุดยาได้ 5 สัปดาห์ ตับก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ ดังนั้น การกินยานี้ จึงควรใช้ในขนาดปกติ เมื่อมีความจำเป็น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ ในบางครั้งอาการปวดอาจเป็นรุนแรงมากขึ้น การใช้ยาพาราเซตามอลอาจได้ผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ผลเลย ซึ่งแสดงว่า ระดับการปวดหัวมีระดับรุนแรงมากขึ้น ซึ่งควรเปลี่ยนตัวยาจากพาราเซตามอลไปเป็นชนิดอื่นที่ระงับอาการปวดได้ดีกว่า เช่น แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์แก้ปวดได้ในระดับปานกลาง มีการนำไปใช้บรรเทาอาการปวดในโรคต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งรวมถึงการปวดหัวด้วย นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ลดไข้ แก้ตัวร้อนได้ผลดีอีกด้วย


  • แอสไพริน


ในผู้ใหญ่ควรเลือกใช้ยาแอสไพรินชนิดเม็ดละ 325 หรือ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น


  • ไอบูโพรเฟน


ยาไอบูโพรเฟน ควรใช้ชนิดเม็ด 400 มิลลิกรัม (หรือชนิดเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น


  • กรดมีเฟนามิก


ส่วนยาแก้ปวดกรดมีเฟนามิก ควรใช้ชนิดเม็ด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด (หรือชนิดเม็ดขนาด 250 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากยาแก้ปวดทั้งสามชนิดหลังนี้มีฤทธิ์เป็นกรด ในการใช้จึงควรกินหลังอาหารทันที เพื่อช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้เกิดเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ เมื่ออาการหายดีแล้ว ก็ควรหยุดยาได้เลย อนึ่ง เนื่องจากในปัจจุบันมีความนิยมในการใช้ยาไอบูโพรเฟนกันมากขึ้น และมีรายงานเกิดการแพ้ยาไอบูโพรเฟนมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในการเลือกใช้ยานี้จึงควรซักถามให้แน่นอนก่อนว่าไม่เคยใช้ยานี้ เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรงขึ้นได้ อีกประการหนึ่งที่พบบ่อย คือผู้ป่วยจำนวนมาก นิยมใช้ยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงในการรักษาอาการปวดหัว ซึ่งก็สะดวกและพอใช้ได้ เพราะหาซื้อได้ง่าย และประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอลที่มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ได้ผลดี แต่ยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงนี้นอกจาก มียาพาราเซตามอลแล้ว ยังประกอบไปด้วยตัวยาอื่นๆ อีก 2-3 ชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้) เฟนีลเอฟรีน (ยาลดอาการคัดจมูก) วิตามิน ซี เป็นต้น ซึ่งยาทั้งสามชนิดหลังนี้ไม่มีประโยชน์ต่ออาการปวดหัวเลย จึงเป็นการได้ยาโดยไม่จำเป็น ดังนั้นถ้ามีโอกาสที่สามารถเลือกได้ ก็ควรใช้ยาเดียวที่แก้ปวดหัวโดยตรงแทนยาแก้ไข้หวัดชนิดแผงจะได้ผลเท่าเทียมกัน แต่ปลอดภัยและประหยัดกว่า


นอกจากยาแก้ปวดที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีแก้ปวดอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่นซึ่งออกฤทธิ์แก้ปวดหัวชนิดรุนแรงหรือปวดมากๆ ยิ่งขึ้น แต่ยากลุ่มนี้ ไม่มีฤทธิ์ลดไข้แก้ตัวร้อนเหมือนยากลุ่มแรก แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น จึงมีฤทธิ์เสพติด ถ้ามีการใช้ติดต่อกันนานในทางปฏิบัติจึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์หรือทันตแพทย์ในการสั่งจ่ายยากลุ่มนี้

Shares:
QR Code :
QR Code