ยาเสพติด “มฤตยูร้าย” ทำลายโลก

 

ยาเสพติด “มฤตยูร้าย” ทำลายโลก  

             ทราบกันหรือไม่ว่าวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันอะไร?” หากถามคำถามนี้เชื่อได้เลยว่าหลายคนคงตอบว่าเป็น “วันสุนทรภู่” วันแห่งการระลึกถึงกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นกันอย่างแน่นอน ซึ่งนั้นก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” ก็ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อนี้เชื่อว่าหลายๆ คนคงอาจไม่เคยรู้มาก่อนอย่างแน่นอน

 

              ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกมาเป็นเวลานาน ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงได้พยายามร่วมมือกันเพื่อหาทางหยุดยั้งปัญหายาเสพติด โดยในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking ICDAIT) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่าง วันที่ 17-26 มิถุนายน 2530 ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ขอให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก”

 

              ทั้งนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยเหตุที่กำหนดวันที่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่การถอนสัมปทานการค้าฝิ่นโดยนายอำเภอ หลิน เจ๋อสวี ตำบลหู่เหมิน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนสงครามฝิ่นครั้งแรก

 

แล้ววันต่อต้านยาเสพติดในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

                 ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหายาเสพติด มาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งรัฐบาลในแต่ละยุคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักรโดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ใช้ชื่อย่อว่า ป.ป.ส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

 

                 ต่อมาในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยก็ได้ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบที่ดีขึ้น พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรม กรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

                 ประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ส.ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศมาโดยตลอด ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา

    

               ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาระดับชาติ ในภาพรวมแม้ว่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงก่อนประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่เริ่มปรากฏปัญหาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากสภาพความอ่อนแอของสังคม จริยธรรม ครอบครัว ขาดความอบอุ่น และเด็ก และเยาวชนถูกทอดทิ้งสูงขึ้นจากเก็บข้อมูลสถิติการจับกุมคดียาเสพติด และจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ค้าที่เข้าสู่ระบบ ทั้งในเรือนจำ สถานพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานคุมประพฤติ และสถานบำบัดรักษา

 

               ตั้งแต่ปี 2548 พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เสพ ผู้ค้าเพิ่มขึ้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น และจากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล พบว่า ความพึงพอใจในระดับปานกลาง-มากที่สุด มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 95.6 เหลือเพียงร้อยละ 65.5″การนำเข้ายาเสพติด”พบการลักลอบนำเข้ายาเสพติดที่หลากหลายตัวยา ทั้ง ยาบ้า กัญชา เฮโรอีน ฝิ่นดิบ ไอซ์ เคตามีน และเอ็กซ์ตาซี  พื้นที่นำเข้าสำคัญยังคงอยู่ทางชายแดนภาคเหนือ ในปี2551  มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 86.5 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 11.8 โดยเป็นการนำเข้าในพื้นที่ชายแดน 44 อำเภอ 17 จังหวัด เป็นพื้นที่นำเข้าหลัก 18 อำเภอ 8 จังหวัดสำหรับการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยการตั้งด่าน/จุดตรวจตอนใน สามารถจับกุมได้ใน 143 ด่าน/จุดตรวจ ใน 49 จังหวัด ของกลางยาบ้า 3,263,457 เม็ด คิดเป็นร้อยละ22.2 ของการจับกุมคดีสำคัญทั้งประเทศ เมื่อปลายปี 2551 พบการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำไปผลิตเป็นไอซ์ หรือหัวเชื้อยาบ้า

 

             เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ออกมาบอกว่า สถานการณ์การค้ายาเสพติด มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น พิจารณาจากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดตั้งแต่ปี 2548-2551 การจับกุมคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 72,595 คดี เป็น 84,266 คดี 107,454 คดี และ 121,135 คดี ตามลำดับ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 15-24 ปี ร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นอายุ 25-29  ปี ร้อยละ 23.9 ยาบ้า ยังคงเป็นตัวยาสำคัญหลักที่มีการค้ามากที่สุด โดยสามารถยึดของกลางได้ 21.7 ล้านเม็ด รองลงมาเป็นกัญชา 21,041.8 กิโลกรัม และสารระเหย 145.2 กิโลกรัมนอกจากนี้ ยังพบว่า ยาในกลุ่ม Club Drugs  เป็นยาชนิดที่ใช้กันในสถานบันเทิง เช่น ยาอี ยาไอซ์ ยาเลิฟ มีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนักค้ารายเก่าที่เป็นรายสำคัญ ที่เคยยุติบทบาท หรือหลบหนีการกวาดล้างจับกุมไปในช่วงการประกาศสงครามกับยาเสพติด เริ่มกลับเข้ามามีบทบาท เคลื่อนไหวทำการค้ามากขึ้น กลุ่มนักค้ารายใหม่ ซึ่งเดิมเป็นผู้เสพที่อาศัยอยู่ในชุมชน ผันตัวเองมาเป็นนักค้ารายย่อย แทนนักค้ารายย่อยเดิมที่ถูกกวาดล้างจับกุม

 

             การประกาศสงครามกับยาเสพติด กลุ่มนักค้าที่ถูกจับกุมและได้รับการประกันตัวปล่อยตัวชั่วคราวหรือพักการลงโทษกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม/เครือข่าย นักค้ายาเสพติดชาวต่างชาติเข้ามาเคลื่อนไหวทำการค้าในประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มนักค้าชาวแอฟริกัน ที่ลักลอบนำโคเคนเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าตามสถานบันเทิงต่างๆ กลุ่มนักค้าชาวเอเซีย ที่เดินทางเข้ามาติดต่อสั่งซื้อเฮโรอีน และไอซ์ จากกลุ่มนักค้าทางชายแดนภาคเหนือ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม กลุ่มนักค้า 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ลักลอบลำเลียงยาบ้า และกัญชา เข้ามาจำหน่ายให้กับกลุ่มนักค้าในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายชาวแอฟริกัน ซึ่งมีชาวไนจีเรียเป็นตัวการสำคัญเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศ มีทั้งยาบ้า เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น สารระเหย พืชกระท่อม และ Club drugs โดยยาเสพติดที่แพร่ระบาดมาก 3 ลำดับแรก ได้แก่ ยาบ้า กัญชา และสารระเหย พื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด ยาบ้า มีการแพร่ระบาดในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และกทม. กัญชา พบในทุกจังหวัด โดยพบมากในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สารระเหย พบในทุกจังหวัด โดยพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฮโรอีน พบมากในพื้นที่ภาคใต้ และภาคเหนือ กลุ่มยา Club drugs พบการแพร่ระบาดมากใน กทม. ภาคกลาง และภาคใต้ พืชกระท่อม พบการแพร่ระบาดมากในพื้นที่ภาคใต้ และกทม. ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี กลุ่มว่างงานและรับจ้าง พล.ต.ท.กฤษณะ บอก

            

          สำหรับวันต่อต้านยาเสพติดปีนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน เพื่อเป็นเกราะป้องกันยาเสพติดทุกระดับ ภายใต้แนวคิด 5 รั้วล้อมไทย พ้นภัยยาเสพติด โดยตั้งทีมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาคีด้านยาเสพติด ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งผลปฏิบัติการพบว่า สถิติการจับกุมยาเสพติดมีมากขึ้น โดยเฉพาะรั้วชายแดนที่สำคัญที่สุด เพราะยาเสพติดที่ใช้ในไทย ไม่ได้ผลิตในไทย แต่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ การสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาทางแนวชายแดนจึงเป็นการป้องกันที่สำคัญที่สุด

 

          ยาเสพติดปัญหาระดับชาติที่ไม่สามารถแก้ไขให้บรรลุผลได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการแก้ไขในมิติต่างๆ ทั้ง 5 ให้แข็งแกร่ง ทั้งสถาบันทางสังคมทุกระดับ ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน สถาบันศาสนา ช่วยกันเฝ้าระวังปราบปรามเป็นหูเป็นตาและสกัดกั้นยาเสพติด ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์เท่าทันต่อเหตุการณ์ เชื่อได้เลยว่าไม่ช้าไม่นาน เราจะสามารถขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากผืนดินไทยได้อย่างแท้จริง….

              

 

 

 




คำขวัญวันต่อต้านยาเสพติดสากลยังคงใช้สโลแกนเดิม เพราะมีกำหนดใช้ปี พ.ศ. 25502552 คือ Do drugs control your life? Your life. Your community. No place for drugs” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ยาเสพติดครอบงำชีวิตของคุณอยู่หรือเปล่า ชีวิตของคุณ สังคมของคุณ ต้องไม่มีที่สำหรับยาเสพติด” ส่วนคำขวัญต่อต้านยาเสพติดของไทย ประจำปี 2552 นั้นสำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดคำขวัญสำหรับการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดไว้ว่า “ผิดช่วยรั้ง พลั้งช่วยเตือน แนะนำเพื่อน อย่าคิดลองยา”

 

            ส่วนคำขวัญที่ ป.ป.ส. ให้ไว้ในปีที่ผ่านๆ อาทิประจำปี 2545 คือ “พลังมวลชน พลังแผ่นดิน ขจัดสิ้นยาเสพติด : The Power of people can conquer illicit drugs” ประจำปี 2548 คือ “พลังไทย ต้านภัยยาเสพติด” ประจำปี 2549 คือ “๖๐ ปี ทรงครองราชย์ รวมพลังไทยทั้งชาติ ขจัดยาเสพติด” ประจำปี 2550 คือ “รวมพลังไทย ขจัดภัยยาเสพติด ร่วมเทิดไท้องค์ราชัน” และประจำปี 2551 ที่ผ่านมา คือ “ทำความดี ตามคำพ่อ” ภายใต้คำขวัญ “รวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด”


 

 

 

เรื่องโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

Update 25-06-52

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

Shares:
QR Code :
QR Code