ยาสูบ สู่ งานประจำของเภสัช ไม่ยาก..อย่างที่คิด
งานประจำของเภสัชกร คือ การบริหารการจัดการยาและเวชภัณฑ์ จ่ายยา ตรวจสอบให้ผู้ป่วยได้รับยาตามที่แพทย์ให้ถูกต้องทั้งชนิด ขนาด และวิธีใช้ ช่วยแพทย์ตรวจสอบ แนะนำการเสริมฤทธิ์ หรือต้านฤทธิ์ของยาที่ใช้ร่วมกัน (drugs interaction) รวมทั้งประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วย นอกจากนั้น เภสัชกรยังมีหน้าที่คิดค้นตำรับยา ปรุงยาตามตำรับที่ใช้ในการรักษา งานประจำของเภสัชกรที่แตกต่างกัน ทำให้การควบคุมยาสูบที่ทำต่างกัน ดังนั้นลักษณะงานประจำที่เภสัชกรทำ แบ่งได้ 3 แบบ คือ เภสัชกร คณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เภสัชกรประจำโรงพยาบาล และเภสัชกรประจำร้านขายยา
คณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัย
หน้าที่หลัก คือ การผลิตเภสัชกรที่มีคุณภาพสู่สังคม ปัจจุบันมีคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ได้จัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องการควบคุมยาสูบ วิธีการเลิกบุหรี่และยาที่ใช้ในการเลิกบุหรี่ สนับสนุนให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) มีกิจกรรมและงานวิจัยด้านการควบคุมยาสูบโดยเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ (คภยส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ ด้วยหวังว่าในอนาคตจะมีเภสัชกรรุ่นใหม่ มาทำงานด้านการควบคุมยาสูบต่อไป อีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญ คือ การศึกษาค้นคว้าวิจัย เป็นที่น่ายินดีว่า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทำการศึกษาทดลอง “ลูกอมหญ้าดอกขาว” สมุนไพรไทยที่สามารถใช้เลิกบุหรี่ได้ จัดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยการควบคุมยาสูบสำคัญที่น่าติดตาม
กลุ่มงานเภสัชกรรมในโรงพยาบาล
งานประจำของเภสัชกรประจำโรงพยาบาล คือ การบริหารจัดการห้องยา ให้มียาและเวชภัณฑ์เพียงพอใช้ในโรงพยาบาล จัดยา จ่ายยา ให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย ด้านงานควบคุมยาสูบในงานประจำ คือ การจัดหายาเลิกบุหรี่ที่แพทย์ใช้ให้เพียงพอ จ่ายยาเลิกบุหรี่พร้อมทั้งแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย โรงพยาบาลบางแห่งมอบหมายให้เภสัชกรให้คำปรึกษาแนะนำผู้ป่วยให้เลิกบุหรี่ ทำงานร่วมกับแพทย์ด้านการดูแลรักษา หรือบางแห่งให้รับผิดชอบจัดทำโครงการควบคุมยาสูบในชุมชนอีกด้วย
ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เภสัชกรจะมีการถาม แนะนำ ส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาเป็นบางกลุ่ม เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญการเลิกบุหรี่กับที่โรคที่เป็น เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาขยายหลอด กลุ่มยาวัณโรค หรือกลุ่มที่ได้รับยาโรคหัวใจ ทั้งนี้ การดำเนินการจะไม่รบกวนระบบบริหารยาที่มีที่มีเป้าหมายสูงสุด คือ ปลอดภัย ถูกต้องและรวดเร็ว
เภสัชกรในร้านขายยา
เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ (คภยส.) เห็นว่า ร้านขายยามีกระจายอยู่ทุกแห่งทุกชุมชนในประเทศไทย ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย จึงได้ผลักดันให้มีบริการเลิกบุหรี่ในร้านขายยา ตั้งแต่จัดให้มียาเลิกบุหรี่จำหน่าย มีการสอบถามการใช้ยาสูบ ให้คำปรึกษาแนะนำเลิกบุหรี่เบื้องต้นและส่งต่อให้ quitline1600 ติดตามหรือส่งต่อคลินิกฟ้าใสเพื่อรักษาตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ปัจจุบันมีร้านขายยากว่า 500 แห่ง จากทั้งหมด 5,000 แห่งทั่วประเทศ เปิดให้บริการอยู่
เภสัชกรเป็นหนึ่งในวิชาชีพสุขภาพที่ร่วมดำเนินการควบคุมยาสูบโดยสามารถสอดแทรกลงสู่งานประจำได้ทุกลักษณะงานที่รับผิดชอบ ทำได้จริง ไม่ยากเกินความสามารถหากด้วยจิตอาสาและจิตสำนึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมช่วยเหลือประชาชนผู้ติดบุหรี่
เรื่องโดย ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล
ที่มา : หนังสือคู่มือยาสูบ “สู่งานประจำ ไม่ยากอย่างที่คิด” เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่