‘ยาดี’ ของไทย ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า
เราเสียค่ายาให้ฝรั่งปีละหลายหมื่นล้าน ขณะที่โรคภัยไข้เจ็บทั้งใหม่เก่าต่างรุมเร้าจนกายใจเสื่อมโทรม ยาดีของไทยอย่าง “สมุนไพร” จึงถูกยกมาถกกันอีกรอบ ว่าจะช่วยรัดเข็มขัดพร้อมๆ กับฟื้นฟูสุขภาพอย่างยั่งยืนได้หรือไม่
“เขาก็หันไปต้มยากินเองบ้าง แต่ไม่มาก หนักไปทางปลูกขายเรามากกว่า” คำบอกเล่าจาก ภก.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าของรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี พ.ศ.2553
เจตนาของประโยคข้างต้น อาจเพียงแค่เล่าสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี แหล่งป้อนวัตถุดิบผลิตยาชั้นดีให้แก่โรงพยาบาล แต่ถ้าตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมเขาถึงเอาจริงเอาจังกับการปลูกขาย มากกว่าจะตั้งใจเด็ดผลผลิตตัวเองไปต้มยา และยังหันไปหาซื้อยาแผนปัจจุบันมากินเวลาเจ็บป่วย
“เราไม่ได้สุดโต่งถึงขนาดต้องให้ชาวบ้านหันมาต้มยา หรือใช้ทานยาสมุนไพรทั้งหมด เราเข้าใจว่าบางแขนง บางโรค ก็ต้องพึ่งยาปัจจุบัน เราจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างภูมิปัญญากับวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันต้องไปคู่กัน ยาฝรั่งเขามาลงลึก ลงรากในเมืองไทยเป็นร้อยๆ ปี แต่ยาสมุนไพร คนไทยกลับเพิ่งมาศึกษากันจริงๆ จังๆ ไม่เกิน 10 ปี ก่อนหน้านั้นไม่มีทั้งหลักสูตร โรงเรียน หรือสถาบัน แล้วเราจะไปหวังให้คนไทยใช้ยาสมุนไพรได้อย่างไร ต้องยอมรับความจริง” ภก.สุภาภรณ์ ให้ความคิดในฐานะผู้บุกเบิกสมุนไพรไทยให้กลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง และกำลังไปได้ดีด้วยมูลค่าทางการตลาดต่อปีราวๆ 200 ล้านบาท เฉพาะของแบรนด์อภัยภูเบศร์เท่านั้น
ความจริงที่ต้องยอมรับ ในความหมายของ ภก.สุภาภรณ์ คือ มูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 38,000 ล้านบาทในปี 2548 หรือ 56 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มูลค่าการผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 29,088 หรือร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปี 2544 มูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันอยู่ที่ 19,968 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมูลค่าการผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 23,088 ล้านบาท หรือ 59 เปอร์เซ็นต์
การนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตลดลง จึงกลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในการเสวนาเรื่อง “นโยบายแห่งชาติด้านยา : ทิศทางการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศ” จัดโดยมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
คณะทำงานข้างต้น พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยพึ่งตัวเองด้านยา ลดการนำเข้า เพิ่มกำลังการผลิตเอง ลดปัญหาการเข้าไม่ถึงยา ด้วยเพราะยานอกที่นำเข้ามาราคาแพง วิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือ การลุกขึ้นมาผลิตยาชื่อสามัญ ราคาถูก ให้ผลการรักษาได้ดีพอๆ กับยาต้นตำรับด้วยสูตรและส่วนผสมเดียวกัน แต่ก็มีปัญหาฟ้องร้องละเมิดสิทธิบัตร ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
“เข้าไม่ถึงยา!” วลีที่คนรวยไม่เคยได้ยิน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวปาฐกถาถึงเรื่องนี้ว่า …ปัญหาคนจนเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากยาแพง เจ็บป่วยล้มตายโดยไม่เป็นธรรม หากพิจารณาตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสงครามในช่วงศตวรรษที่แล้ว มีจำนวนประมาณ 200 ล้านคน ความรุนแรงอีกประการหนึ่งที่รุนแรงกว่าสงคราม คือตายเพราะความยากจน ตายเพราะความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งผู้คนที่ตายจากสาเหตุนี้มีจำนวนมากกว่าตายจากสงครามหลายเท่า…
สาเหตุหนึ่งของปัญหาการเข้าไม่ถึงยา อาจเป็นเพราะ การวิจัยยาที่อิงกลไกตลาด ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ เคยเล่าว่า มีแต่การลงทุนวิจัยในโรคที่คนรวยเป็น นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ความบิดเบี้ยว แทนที่จะลงทุนในโรคที่คนจนเป็นเพราะมีเงินน้อย แต่เป็นเพราะกลไกตลาดทำให้คนทำธุรกิจไม่อยากลงทุน ในแง่ความอยุติธรรม เมื่อการวิจัยยาเพื่อคนจนเกิดขึ้นน้อย บางตัววิจัยมาก็ขายแพง ทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงยา กลายเป็นเรื่องซับซ้อนมาก และตีประเด็นไม่แตก
อีกประเด็นที่ดึงให้คนยิ่งห่างไกลจากยาคือ สิทธิบัตรยา เรื่องนี้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ อธิบายไว้ในหนังสือ drugly american ชีวิตและยา กับ fta ไทย-สหรัฐ ว่าราคายาต้นตำรับที่ได้รับสิทธิผูกขาดจากระบบสิทธิบัตร มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่ผ่านไป ทั้งนี้ เพราะไม่มีการแข่งขันจากยาตัวอื่น แต่หากมีการแข่งขันกันระหว่างยาต้นตำรับกับยาสามัญ ราคายาจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ และจากการเปรียบเทียบราคายาต้านไวรัสเอดส์ ทั้งที่เป็นยาต้นตำรับ และยาชื่อสามัญ พบว่าราคายาต้นตำรับซึ่งแพงอยู่แล้วไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านไปเพียงใดก็ตาม ขณะที่ราคายาชื่อสามัญจะลดลงอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป
“จากการศึกษารายจ่ายค่ายาในแต่ละวัน พบว่ายาต้นตำรับ แพงกว่ายาชื่อสามัญ 2-10 เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรการใช้ยา ถ้าในสูตรยานั้นมียาชื่อสามัญรวมอยู่ด้วย อัตราราคาที่แพงกว่าจะต่ำลง” รศ.ดร.จิราพร กล่าว
สิทธิบัตรยา ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงเรื่องราคา และการเข้าถึงยาเท่านั้น แต่ยังทำให้ไม่เกิดการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ทั้งๆ ที่เงื่อนไขสำคัญของการจดสิทธิบัตร ต้องมี “ความใหม่” แต่ผู้ผลิตจำนวนมาก อาศัยวิธี “กรอกเหล้าเก่าลงขวดใหม่” ไม่ได้พัฒนาตัวยาใหม่ๆ ขึ้นมา ใช้ตัวยาเก่าที่ใกล้หมดอายุสิทธิบัตรไปเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ดังข้อมูลจากหนังสือ กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ the truth about the drug companies โดย พญ.มาร์เซีย แอนเจลล์ บอกว่า “…ปัจจุบันนี้เกือบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อบ่งชี้ใหม่, รูปแบบยาใหม่, สูตรผสมใหม่ของยาตัวเก่า หรือแม้แต่การเคลือบเม็ดยา และสีของเม็ดยาก็สามารถจดสิทธิบัตรได้…”
คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมระหว่างฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า …สิทธิบัตรทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะเป็นเจ้าของทั้งๆ ที่ของเหล่านั้นมันเป็นสาธารณประโยชน์ แต่ว่าเอามาถือเป็นของตนเอง ตอนนี้มันคุกคามไปทุกองคาพยพ เราผลักดันการเข้าถึงยา เพื่อให้ผลิตยาเองได้บ้างในตัวยาสำคัญ…
cl การทวงสิทธิที่เหนือสิทธิ
แม้ทางออกของปัญหายังไม่ชัดเจน แต่กรณีที่ไทยไปต่อสู้เรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือ cl จนถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง สมัย นพ.มงคล ณ สงขลา นั่งว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นการจุดประกายความหวังครั้งสำคัญว่า การเข้าถึงยาอาจง่ายมากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องฐานะ
อนึ่ง การทำ cl คล้ายการลอกเลียนการผลิตยาที่มีราคาแพงให้มีราคาถูกลง เพราะการผลิตจริงๆ แล้วไม่ได้มีต้นทุนสูง แต่ผู้ผลิตยาเป็นผู้ตั้งราคาให้มีมูลค่าสูง เหมือนการสร้างแบรนด์ เพื่อดันราคาให้แพง การทำ cl จึงเหมือนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างการละเมิดกับมนุษยธรรม
ธุรกิจยามีมูลค่ามหาศาล เมื่อการทำ cl ช่วยให้คนเข้าถึงยา และยามีราคาถูกขึ้น ย่อมมีผู้เสียประโยชน์จากกรณีนี้ ผู้ผลิตยาหลายราย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่ไม่พอใจ ก่อให้เกิดกระบวนการสกัดกั้นการทำ cl โดยบริษัทยาต่างชาติเหล่านั้นทุ่มเงินให้แก่บางองค์กร บางหน่วยงานที่มีพลังมากพอจะยับยั้งการทำ cl
“เมื่อไม่นานนี้ มีบริษัทยาบริษัทหนึ่งจัดอบรมเรื่องกฎหมายยา เสียค่าอบรมสองหมื่นบาท เขาสอนเรื่องการจะทำอย่างไรให้ยืดอายุการจดสิทธิบัตรไปได้เรื่อยๆ ตอนนี้เราได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างดีเยี่ยม ด้วยการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้บริษัทยาต่างชาติ เหมือนว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย กลายเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเขาแล้ว” กรรณิการ์ เผยข้อมูลอีกด้าน
ยาเก่าต้องเล่าใหม่
ในวงเสวนา นโยบายแห่งชาติด้านยาฯ จึงสอดส่ายสายตาหาตัวช่วยใหม่ ช่วยรัดเข็มขัดไม่ให้เงินบาทไทยไหลเข้ากระเป๋าบริษัทต่างชาติไปมากกว่านี้ ทุกคนมีมติร่วมกันว่า “สมุนไพรไทย” น่าจะเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ได้ ยกตัวอย่าง ตำรับยาโบราณ แบบมุขปาฐะ เช่น น้ำร้อนลวก รักษาได้เพียงแค่เด็ดว่านหางจระเข้มาทา หรือเป็นหวัดก็กินน้ำต้มใบกระเพรา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นพืชผักสวนครัวทั้งนั้น
แต่ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้คนไทยหันมาใช้ภูมิปัญญาง่ายๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ในวงเสวนาเห็นว่า คงต้องเริ่มต้นที่หมอ
“เพราะให้พูดกันตามประสาชาวบ้านก็คือ ‘หมอพูดอะไรชาวบ้านก็เชื่อ‘ จึงต้องปลูกฝังเพื่อให้หมอเอาภูมิปัญญาเหล่านี้ ถ่ายทอดความรู้เรื่องสมุนไพรให้ประชาชน จนสามารถใช้สมุนไพรเป็น และรู้จักการพึ่งพาตนเอง”
เจ้าของประโยคข้างต้น คือ นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ที่เผยถึงแรงบันดาลใจในการผลักดันสมุนไพรแทนยาฝรั่งว่า เดิมทีรู้สรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้าอยู่แล้ว จากนั้นก็เริ่มนำสมุนไพรมาแทนยาทีละตัว ไม่กี่ชนิด แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก จึงลองทำน้ำสมุนไพร พบว่ารสชาติดี มีประโยชน์ เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สมุนไพรเป็นที่รู้จักและยอมรับของบรรดาแพทย์ พยาบาล ถือเป็นการทำให้รู้จักสมุนไพรทางอ้อม
“ไม่อยากให้มองสมุนไพรมากกว่าเป็นยา อยากให้มองเป็นอาหาร การปลูกสมุนไพรไว้หลังบ้านก็สามารถเอามาปรุงเป็นอาหาร เราต้องการให้เค้ามีสุขภาพที่ดี สมุนไพรไม่จำเป็นต้องกินเมื่อเราป่วย แต่กินเพื่อให้เราสุขภาพแข็งแรงขึ้น อยากให้พึ่งตัวเองได้ไม่ต้องไปสั่งซื้อยามาจากต่างประเทศ ประเทศจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้” นพ.เปรม เอ่ยความต้องการ
นอกจากนี้ สมุนไพรสามารถรักษาโรคร้ายแรง โดยเกิดผลกระทบข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ตัวยาที่เป็นสารเคมีด้วย
“ตอนนี้โรคเอดส์และมะเร็งไม่มียารักษา แพทย์แผนไทยกำลังทำให้รู้ว่าจะอยู่ได้อย่างไรกับมะเร็ง ไม่ทำให้ร่างกายบอบช้ำ งานวิจัยบอกไว้ว่าการใช้ยา ‘คีโมเธอราพี‘ รักษามะเร็ง เป็นองค์ความรู้ที่ผิด เพราะเป็นการกระตุ้นให้เซลล์ที่ผิดปกติสร้างตัวเองมากขึ้น ที่ถูกต้องคือต้องสร้างสมดุลให้อยู่ร่วมกับมะเร็งได้โดยไม่ใช้สารเคมีไปกระตุ้น ทางออกคือ ‘สมุนไพร‘ เราต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อรับใช้สังคมได้” รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เสริม
‘นโยบายพึ่งตนเอง‘ ความฝันที่ไร้การสานต่อ
ปัญหาเปลาะสุดท้าย สำหรับการพึ่งตัวเองด้านยา คือ ยังไม่มีองค์กรดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงขาดการผลิตและผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนสู่วาระระดับชาติ เหนือสิ่งอื่นใด หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือการทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อเห็นต้องตรงกัน การผลักดันก็จะง่ายมากขึ้น
“แต่ตอนนี้ ทุกคนมองไม่ออกว่า นโยบายแห่งชาติด้านยา คืออะไร” ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ปัญหา พร้อมยกกรณีศึกษาจากประเทศออสเตรเลียมาเปรียบเทียบ ว่า เขามีนโยบายชัดเจน ว่า ต้องให้อุตสาหกรรมอยู่รอดโดยการผลิตยา สิ่งแรกที่เขาทำหลังจากประกาศนโยบายคือตั้งหน่วยงานกลางบริหารนโยบายที่ดึงการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนตัวนโยบายโดยมี 4 เสาหลัก คือ พึ่งตนเอง อุตสาหกรรมอยู่รอด เข้าถึงยา มียาที่ปลอดภัย และมีการใช้ที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังมีองค์กรที่ดูแลเฉพาะอย่างเต็มที่และครอบคลุม นี่คือตัวอย่างที่ดีที่เราน่าเอาเยี่ยงอย่าง
ปลายทางยังอีกไกล เริ่มจากที่ใกล้ๆ อย่างสวนหลังบ้าน น่าจะง่ายและทำได้เร็วกว่า …มาปลูกยากันเถอะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update : 23-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน