‘ยะเยือก’ ซ้ำน้ำท่วม!

เตือน หนาวตายเพราะเมา

 

 ‘ยะเยือก’ ซ้ำน้ำท่วม!

 

          สถานการณ์ภัยน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยยังไม่ทันจะผ่านพ้นไป “ภัยหนาว” ก็เริ่มเข้าครอบคลุมเมืองไทยแล้ว ซึ่งฤดูหนาวในไทยปีนี้มีรายงานว่าจะหนาวมาก โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ช่วงตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. 2553 ถึงกลางเดือน ก.พ. 2554 โดยสังเขปคือ… ฤดูหนาวในปีนี้คาดว่าจะมีอากาศหนาวกว่าปีที่แล้ว และอุณหภูมิจะต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อยโดยช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดอยู่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2553 ถึง ม.ค. 2554

 

          ทั้งนี้ เกณฑ์อุณหภูมิฤดูหนาวนั้น คำว่า อากาศเย็นหมายถึงอุณหภูมิระหว่าง 16.0-22.9 องศาเซลเซียส, อากาศหนาวหมายถึงอุณหภูมิ 8.0-15.9 องศาเซลเซียส, อากาศหนาวจัดหมายถึงอุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส ซึ่งกรมอุตุฯ คาดหมายไว้ว่า…ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีอากาศเย็นก่อนภาคอื่นๆ ภาคกลางและภาคตะวันออกจะเริ่มมีอากาศเย็นลงประมาณเดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค.-ม.ค. ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาว ถึงหนาวจัด โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค

 

          ส่วนรายละเอียดชัดๆ ก็ต้องติดตามข่าวเป็นระยะเพราะช่วงที่อากาศ “หนาว” ก็เป็นช่วงที่มี “ภัย”

 

          ว่ากันถึงภัยช่วงหนาวจาก “โรคต่างๆ” ก็อย่างที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เคยนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือโรคที่มากับภัยหนาวส่วนใหญ่มักเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ปอดบวมวัณโรค ไข้หวัดใหญ่ซึ่งหวัดใหญ่นั้นยุคนี้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่น่ากลัวมากอย่างที่ทราบๆ กัน ก็ต้องระวังป้องกันให้ดี

 

          วิธีปฏิบัติตัวที่จะช่วยได้ก็คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่, ออกกำลังกายโดยให้เหมาะสมกับวัย, พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอไม่ตรากตรำจนเกินควร, รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอไม่อาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำเย็นเกินไป, หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด

 

          อย่างไรก็ตาม ภัยในช่วงฤดูหนาวนั้นมิใช่มีเพียงแค่โรค กับสภาพอากาศที่หนาวเย็นนั้นมักจะมีหมอกจัด การเดินทางสัญจร การใช้รถใช้ถนน ในช่วงเช้าหรือกลางคืน จำเป็นต้องระวังการเกิด “อุบัติเหตุ” ให้มาก รวมถึงยังต้องระวังภัย “ไฟไหม้” อันเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง ซึ่งช่วงฤดูหนาวจะเกิดไฟไหม้ได้ง่าย

 

          และนอกจากนี้ก็ยังมี “ภัยหนาวตาย” ฤดูหนาวปีนี้ในไทยก็เกิดภัยนี้ขึ้นแล้ว “หนาวตาย” ผู้สูงอายุต้องระวัง หรือแม้แต่คนวัยหนุ่มสาวก็ประมาทไม่ได้ ต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่น อีกทั้งต้องระวังเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมามายไม่ได้สติ เพราะ “เมา…ไม่ใช่วิธีแก้หนาว!!”

  

          เพราะเมาไร้สติจึงหนาวตาย…เกิดขึ้นประจำ!!

 

          “ฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ก็จะทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนร่างกายอบอุ่นขึ้น แต่จริงๆ แล้วการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยจะทำให้ความร้อนระบายออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งมาก ความร้อนจะยิ่งถูกระบายออกมากขึ้น ที่สำคัญคือ อุณหภูมิร่างกายอาจลดลงต่ำกว่าระดับปกติ และหากเมาไร้สติแล้วผล็อยหลับไปโดยมิได้มีการทำให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอ ร่างกายสัมผัสอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานานอาจทำให้เสียชีวิตได้ง่ายๆ” …คือคำเตือนของทางสาธารณสุข

 

          นี่คืออีกรูปแบบภัยหนาว “หนาวตายเพราะเมา”  และไม่เท่านั้น ช่วงฤดูหนาวยังมีภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่ก็น่ากลัวซึ่งเกิดจากจิตใจ นั่นก็คือการ “คิดสั้น-ฆ่าตัวตาย” ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม พอน้ำเริ่มลดก็อาจ “เครียดจัด”เพราะเริ่มเห็นความสูญเสียชัดเจน ก็ถือว่าน่าเป็นห่วง อย่างที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เพิ่งจะนำเสนอไปเมื่อเร็วๆ นี้ และยิ่งเจอสภาพอากาศหนาวเย็นเข้ามาซ้ำก็อาจจะยิ่งน่าห่วงมาก เพราะลำพังคนทั่วๆ ไป ในช่วงฤดูหนาวก็เสี่ยงกับภัยที่ว่านี้

 

          ทั้งนี้ คนที่ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว, ขี้ระแวง, ทำอะไรเองไม่ค่อยได้-ไม่ค่อยเป็น, จริงจังกับชีวิตมาก, เจ้าอารมณ์ คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิด “โรคซึมเศร้า” และโรคนี้ก็ “เป็นง่ายในช่วงฤดูหนาว”

 

          “โรคซึมเศร้า เป็นสาเหตุทำให้คนบางกลุ่มคิดสั้น-ฆ่าตัวตายความไม่สมดุลทางเคมีในร่างกาย ทำให้เกิดอาการง่วงเหงา ซึมเซา เบื่อหน่ายง่าย ซึ่ง ช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงมากที่สุดช่วงหนึ่งเพราะสภาพอากาศขมุกขมัวทำให้ร่างกายมีสารเมลาโทนินมากเกินไป เคมีในร่างกายมีสภาพความเป็นด่างมากไปจนเป็นสาเหตุของอาการซึมเซาได้ ยิ่งไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ไม่ทำร่างกายให้กระฉับกระเฉง อาการของโรคก็จะแสดงผลหนักขึ้น” …นักจิตวิทยา ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรมระบุเตือนไว้ช่วง “อากาศหนาว” ก็ต้องระมัดระวังการเกิด “ภัย” รัฐต้องดูแลประชาชน…ประชาชนต้องดูแลตัวเองให้ดี โรค-อุบัติเหตุ-ไฟไหม้-หนาวตาย-คิดสั้น…ช่วงนี้ยิ่งดุ!!

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update : 05-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ