ยอดเด็กป่วยข้ออักเสบพุ่ง ผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด

 

พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้ออักเสบและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยว่า เด็กไทยป่วยด้วยโรคข้ออักเสบเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการพิการ และเสียชีวิต 

ทั้งนี้ คุณหมอกล่าวว่า โรคข้ออักเสบในเด็กไม่ทราบสาเหตุ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ที่คาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม ที่เมื่อได้รับการกระตุ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดเชื้อ อาจจะทำให้เกิดโรคข้ออักเสบในเด็กได้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้น และบริเวณกระดูกขากรรไกร เป็นต้น

โรคข้ออักเสบมักจะพบในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือน – 16 ปี โดยในบางรายจะมีผื่นแดงคล้ายสีส้มเหมือนเนื้อปลาแซลมอน บริเวณที่อักเสบมีการบวม กระดูกผิดรูป กระดูกยึดติดไม่สามารถยืดได้ และเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดกับเด็ก จึงทำให้ค่อนข้างสังเกตอาการได้ยาก เพราะเด็กบางรายมือบวม เท้าบวมเป็นปกติ หรือเวลาหกล้มแล้วเดินกะเผลก หากไม่รีบทำการรักษาจะทำให้เด็กพิการร่างกายและพิการทางสายตา หรือในรายที่เป็นชนิดรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้ จึงอยากให้พ่อแม่สังเกตอาการของลูกบริเวณข้อมือ ข้อเท้า หากบวมหรือกระดูกผิดรูป หรือหากเขาล้มแล้วเดินกะเผลกนานเป็นสัปดาห์ขอให้คิดถึงโรคนี้ ในกรณีที่เด็กโตหากพบว่ามีอาการปวดในตอนเช้าเวลาที่อากาศเย็น ขอให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา

ส่วนการรักษามีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ปี และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงประมาณ 20,000 – 40,000 บาทต่อเดือน โดยยาที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาต้านการอักเสบ ยากดภูมิต้านทาน และยากลุ่มชีวภาพ ยาใน 2 กลุ่มแรกนั้นการออกฤทธิ์ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน โดยระหว่างนี้ กระดูกก็จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ ส่วนยาในกลุ่มชีวภาพจะออกฤทธิ์ในทันที แต่ค่อนข้างมีราคาแพง และอยู่นอกบัญชียาหลักฯ ซึ่งแพทย์พยายามผลักดันให้เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงจะผลักดันให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย ระหว่างนี้จึงต้องใช้เงินกองทุนของมูลนิธิรามาธิบดีมาช่วยผู้ป่วยก่อน

“โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักโรคนี้ จึงคิดว่าเป็นโรคหายาก แต่เท่าที่หมอรวบรวมคนไข้มาประมาณ 4 ปี เฉพาะที่ รพ.รามาฯ มีเด็กเป็นโรคนี้เกือบ 200 คน ต่างจังหวัดก็มีเยอะ แต่เนื่องจากเรามีหมอด้านนี้น้อย แค่ 4 คนเท่านั้น เลยไม่ได้เก็บสถิติของประเทศไทย แต่ทั่วโลกมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1-20 : แสนประชากร” พญ.โสมรัชช์กล่าว

สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ห้ามกินอาหารสุกๆ ดิบๆ แม้กระทั่งผักสด เพราะอาจจะมีพยาธิ ห้ามเดินเท้าเปล่า พ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่นตามปกติ ออกกำลังกายที่ไม่ใช้กำลังข้อมาก เช่น การว่ายน้ำ เป็นต้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code