ยอดรถยนต์เพิ่ม ความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศพุ่ง!
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ เผยผลวิจัยค่าฝุ่นละอองในอากาศ ร้อยละ 80 สารก่อมะเร็งในอากาศของพื้นที่กรุงเทพฯ มีสาเหตุจากไอเสียของยานพาหนะ
รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จากการทำวิจัยโดยนำข้อมูลตัวอย่างค่าฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (pm10) ของศูนย์วิจัยฯ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี ได้แก่ การเคหะชุมชนคลองจั่น ร.ร.นนทรีวิทยา ร.ร.สิงหราชพิทยาคม การไฟฟ้าย่อยธนบุรี สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 การเคหะชุมชนดินแดง และ ร.ร.บดินทรเดชาตั้งแต่ปี 2549-2552 มาตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศพบว่า ค่าเฉลี่ยระดับความเข้มข้นของสารก่อมะเร็ง pahs ในฝุ่น pm10 อยู่ที่ระดับ 554 พิโคกรัม หรือเกินค่ามาตรฐานถึง 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยของ uk-epaqs ที่ควรมีไม่เกิน 250 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังพบว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับ 13 ของเมืองในเอเชีย ที่ประชาชนมีความเสี่ยงที่ได้รับสารก่อมะเร็งจากฝุ่นละอองในอากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
รศ.ดร.ศิวัช กล่าวต่อว่า ส่วนจุดที่มีค่าความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศสูงสุด ได้แก่ การเคหะชุมชน ดินแดงมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 990 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐาน 3.96 เท่า นอกจากนี้ ยังได้นำค่าเฉลี่ย pahs ที่จุดตรวจวัดทั้ง 7 จุดของกรุงเทพฯ มาคำนวณในแบบจำลองการจำแนกสัดส่วนแหล่งกำเนิด พบว่า ร้อยละ 80 ของสารก่อมะเร็งในอากาศของพื้นที่กรุงเทพฯ มีสาเหตุจากไอเสียของยานพาหนะ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ส่งผลให้ความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในอากาศเพิ่มสูงขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ