ยก 32 วัดต้นแบบ แก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่
โครงการ "พระเห็นพระ" จับมือ ม.มหาจุฬาฯ ยก 32 วัดต้นแบบ ใน 4 ภูมิภาค แก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงด้วยหลักธรรมคำสอน พร้อมลงมือปฏิบัติจริง สร้างชุมชนเป็นสุข เพิ่มศีลธรรมประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงมากขึ้น หวังช่วยลดปัญหาสังคมเสื่อม ดึงพระรุ่นใหม่สานต่อแนวร่วม เพิ่มเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาพร้อมขยายผลทั่วประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีคืนข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยมีพื้นที่นำร่อง 32 วัด ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมให้พระภิกษุรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านพัฒนาสังคม ได้สืบทอดและขยายผลงานของพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นปัจจุบัน พร้อมให้องค์กรด้านศาสนาที่มีแนวทางการทำงานพัฒนาสังคม ได้แลกเปลี่ยนเพื่อหาจุดเสริมงานร่วมกัน
พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม วัดโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.จันทบุรี พระผู้แทนคณะกรรมการ 4 ภาค และประธานโครงการ กล่าวว่า โครงการพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ลดอบายมุขสร้างสุขให้ชุมชน มีพื้นที่ต้นแบบ 32 วัด และพื้นที่ลูกข่าย 70 วัด จากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยมีการนำร่องมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ 5 วิทยาเขตของ มจร. และมีการส่งเสริมพระนิสิตให้ไปศึกษาเรียนรู้กับพระนักพัฒนาอาวุโส จำนวน 32 รูป ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 และปัจจุบันมีผลงานที่สามารถสื่อสารออกไปได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เกิดการพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งขยายผลไปยังวัดใกล้เคียง จึงได้จัดงานประชุมและนำเสนอผลงาน มอบเกียรติบัตรให้กับวัดตัวที่เป็นต้นแบบในด้านการพัฒนา และแก้ไขปัญหาด้านปัจจัยเสี่ยงที่มาจาก เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด พร้อมทั้งได้ให้พระนักพัฒนาได้มาร่วมแลกเปลี่ยนวิธีการในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาชุมชน พื้นที่ต่างๆ เพื่อเกิดความร่วมมือในการทำงาน การหนุนเสริมกิจกรรมระหว่างเครือข่าย และขยายพื้นที่เพื่อพัฒนาวัด ชุมชน และสังคม อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอผลงานพระสงฆ์นักพัฒนา การขยายงานพัฒนาด้านลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน มีพื้นที่เรียนรู้ การรณรงค์ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงร่วมกันต่อไป
ด้านพระราชวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวปาฐกถา เรื่อง "พลังของพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง" ใจความตอนหนึ่งว่า พระนักพัฒนา ถือเป็นพระกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการสอนทางด้านธรรมะ เพียงอย่างเดียว แต่ได้เน้นในเรื่องของการไปช่วยชาวบ้าน เพื่อส่งเสริมให้มีการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ไม่เกิดทุกข์จากการใช้ชีวิต โดยได้มีการแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด ที่เกิดขึ้นในสังคม พร้อมหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งนี้แนวทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์
"โดยมีพระนิสิตซึ่งเป็นพระรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานั้น ได้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายพระนิสิต แต่ละวิทยาเขตของ มจร. ปัจจุบันมีวิทยาขอนแก่น ที่เป็นกลไกประสานทั้ง 5 วิทยาเขต และเกิดนวัตกรรมที่มาจากการเรียนรู้ในการทำงานเพื่อลดการสูบบุหรี่ จำนวน 10 ชิ้น เพื่อเผยแพร่ต่อวิทยาเขตอื่นต่อไป สำหรับในอนาคตนั้นอาจนำเนื้องานของพระสงฆ์นักพัฒนาเข้าไปบรรจุในการเรียนการสอนของ มจร. และมีการทำบันทึกว่าในประเทศไทยมีพระนักพัฒนาที่ใดบ้าง เพื่อให้เกิดการขยายผลและมีการสื่อสารในประเด็นด้านการพัฒนาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการหนุนเสริมการทำงานของพระนักพัฒนาให้มากขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมส่วนรวม"พระราชวรเมธี เผย
พระครูโพธิวีรคุณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ผู้แทนเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ในเขตภาคอีสาน กล่าวว่า การพัฒนาชุมชน ให้ลด ละ เลิก ห่างไกลจากปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดที่จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน หากพระไม่ให้ความรู้หรืออบรมชาวบ้านให้เป็นผู้ที่มีสติ รู้จักผิดชอบ ก็อาจเกิดความเสื่อมต่อชุมชน คนรุ่นหลังต่อมา หากชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือกันแก้ไข ชุมชนก็อยู่อย่างไม่ปกติสุข ที่ผ่านมาได้พยายามเน้นการสื่อสารให้ชาวบ้านรู้ว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างหากยังมีการจัดงานที่เป็นความเสี่ยง ซึ่งทางวัดเริ่มทำมาตั้งแต่ ปี 2536 เป็นต้นมา โดยได้เน้นการเทศน์ในวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนการพูดคุยกับเจ้าภาพเมื่อจะมีการจัดงานต่างๆเกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงข้อดีข้อเสีย จึงค่อยๆทำความเข้าใจ เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดงานแต่ละงาน หากมีเรื่องเหล้าเข้ามา ก็จะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาก ถึงประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่องาน จึงได้ลองคุยกันว่าถ้านำเงินตรงนี้ไปพัฒนาชุมชน ส่งเสริมลูกหลานในชุมชนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อนำมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา จะไม่ดีกว่าหรือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าใจ และทำตามด้วยความสมัครใจมากขึ้น
พระอิทธิยาวัชย์ สุวีรวราวุฒิ จ.ตรัง ผู้แทนพระนิสิตปฎิบัติศาสนกิจในโครงการฯ กล่าวว่า ได้มาช่วยงานในเรื่องของการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ โดยได้นำความถนัดของตนเองจากการจัดค่ายอมรมต่าง ๆ เมื่อสมัยเป็นฆราวาส มาสานต่อ และปัจจุบันเป็นทีมพระวิทยากรในการให้การอบรมเยาวชนและผู้ต้องขัง การจัดโครงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดให้แก่เด็กนักเรียนในจังหวัดที่มีความสนใจ เน้นให้เกิดการรวมทีมเยาวชนและตั้งเป็นชมรมจิตอาสาออกช่วยเหลือวัดต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น การล้างห้องน้ำ การทำความสะอาดวัด กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กเยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วม มีการปลูกฝังจิตสำนึก มีความเป็นจิตอาสา เพราะปัจจุบันภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็กนั้นมีอยู่รอบด้าน หากมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี สอนให้เด็กมีศีลธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการทำความดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ก็จะลดปัญหาการมั่วสุ่ม ประพฤติตนอย่างถูกทางมากขึ้น ไม่เป็นภาระของผู้ปกครอง
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)