ยกระดับระบบแพทย์ทางไกล ขยายผล 29 รพ.เข้าถึงดูแลสุขภาพ ทั่วประเทศ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
Platform Social Telecare เชื่อมระบบ Telemedicine สสส. สานพลัง สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์-ภาคีเครือข่าย พัฒนาเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ยกระดับดูแลสังคมสาธารณสุขดิจิทัล เก็บข้อมูลผู้ป่วยลดความคลาดเคลื่อน-ลดปัญหาผู้ป่วยเปราะบาง-พัฒนาเครื่องมือใหม่ พบผู้ใช้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นมากถึง 14 เท่า เตรียมขยายผล 29 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เดินหน้าสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการ
เวลา 09.00 น. วันที่ 3 มี.ค. 2568 ที่โรงแรมใบหยก สกาย โฮเต็ล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อนเชิงนโยบายการใช้งาน Platform Social Telecare เชื่อมโยงกับระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อขยายผลการทำงานในระดับพื้นที่ และเปิดตัวหนังสือ “Social [Tele]care จุดเปลี่ยนวิชาชีพสังคมสงเคราะห์” ซึ่งรวบรวมบทเรียนจากเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ 31 คน ที่พัฒนาการใช้งานแพลตฟอร์ม Social Telecare ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิของไทย
ศ.ระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนากลไกนักสังคมสงเคราะห์ มุ่งยกระดับระบบดูแลสังคม และสาธารณสุขแบบดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลของไทย จำเป็นต้องพัฒนาระบบให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม โดยทดลองใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare เชื่อมโยงสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ Sandbox 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์กาฬสินธุ์ รพ.ขอนแก่น รพ.มหาสารคาม รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.ยะลา เก็บข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็ง พร้อมพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยทางสังคม 37 รายการ เช่น เครื่องมือประเมิน วินิจฉัย และจัดการทางสังคม (S.D.M.A) เครื่องมือประเมินความพร้อมของครอบครัว (F.R.A.) ข้อมูลการแพลตฟอร์ม Social Telecare ปี 2567 เพิ่มขึ้นมากถึง 14 เท่า จากปี 2565 ที่มีผู้เข้าใช้ 1,476 เป็น 5,325 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ให้ข้อมูลสุขภาพ 5,325 ราย นักสังคมสงเคราะห์ 432 ราย สหวิชาชีพ 22 ราย โรงพยาบาล 118 แห่ง มีผู้เข้าใช้ 1,476 ราย
“การใช้แพลตฟอร์ม Social Telecare ในพื้นที่ Sandbox 5 แห่ง ช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์ใช้งานระบบได้อย่างถูกต้อง เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางได้อย่างแม่นยำ ลดปัญหาความคลาดเคลื่อนและข้อผิดพลาดจากมนุษย์ (Human error) โดยข้อมูลถูกนำไปออกแบบกิจกรรมเฉพาะบุคคลและกลุ่ม สามารถติดตามผู้ป่วยที่อาจตกหล่นจากระบบ ช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์ได้รับข้อมูลก่อนพบผู้ป่วย ติดตามผลผ่านระบบและรายงานต่อทีมสหวิชาชีพ พร้อมใช้เครื่องมือประเมินปัญหามาตรฐาน สนับสนุนผู้ป่วยให้อยู่ในระบบการรักษา ลดอุปสรรคด้านสังคมและครอบครัว ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการแก้ไขปัญหาสังคมของผู้ป่วย โดยมีแผนขยายผลสู่ 29 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ศ.ระพีพรรณ กล่าว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสหวิชาชีพและนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นวิชาชีพสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม เสริมพลังตนเอง ครอบครัว และชุมชน และสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้มีความรู้และทักษะพัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ในยุคดิจิทัลนักสังคมสงเคราะห์ต้องพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือดิจิทัลจะช่วยเสริมสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับการ การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพโดยการใช้ข้อมูล (Data-driven) เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ พัฒนา Big Data เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ สร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในอนาคต
“การพัฒนาระบบนักสังคมสงเคราะห์ ได้ออกแบบบริการคลินิกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical Social work clinic) 5 ระบบ 40 บริการ เช่น การฝึกทักษะทางสังคม การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของเครื่องมือทางสังคมเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ และสามารถเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล API คือ A-Med Home ward และ HOSxP ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน สำหรับสถานพยาบาล ทำงานร่วมกับ AI ที่ช่วยจำแนกระดับปัญหาผู้ป่วยเชื่อมโยงบริการที่เกี่ยวข้องและระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยประเมินผลข้อมูลทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ครอบคลุมการพัฒนาบุคลากรและเสริมศักยภาพนักสังคมสงเคราะห์ พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Cloud Data Lake AI การบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ เพื่อบูรณาการข้อมูลอย่างไร้รอยต่อผ่าน API Metadata และ Data Catalog โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและมาตรฐาน สามารถขยายผลครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ และเชื่อมโยง PST กับสำนักบริการสุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข” นพ.เฉวตสรร กล่าว