ยกระดับบัตรทอง รักษาทุกโรงพยาบาลปฐมภูมิ
ที่มา : เว็บไซต์มติชน
การยกระดับบัตรทองไปอีกขั้น ด้วยนโยบาย “ไปรับบริการที่หน่วยบริการ ปฐมภูมิไหนก็ได้” ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สิทธิได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเริ่มนำร่องใน พื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง กำเนิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 18 ปี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายไม่ให้มีใครต้องล้มละลายจากการรักษา แถมทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ถือเป็น "ของดี" ที่คนไทยสามารถอวดชาวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ปีนี้ระบบหลักประกันสุขภาพย่างเข้าสู่ ปีที่ 19 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงถือโอกาสยกระดับบัตรทองไปอีกขั้น ด้วยนโยบาย "ไปรับบริการที่หน่วยบริการ ปฐมภูมิไหนก็ได้" ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สิทธิได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเริ่มนำร่องใน พื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงรายละเอียดของนโยบายนี้ว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพต้องลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิที่ใดที่หนึ่ง และต้องไปรักษาที่หน่วยนั้น หากมีการเจ็บป่วยเกินศักยภาพของหน่วยบริการ จะมีการส่งต่อไปหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่สูงกว่า
นพ.จเด็จ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บางครั้งประชาชนมีความสะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นด้วย ไม่เฉพาะแค่ที่ลงทะเบียน ไว้อย่างเดียว เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ การลงทะเบียนหน่วยบริการประจำไว้แห่งใดแห่งหนึ่ง และมีหน่วยบริการรับส่งต่อเพียงแห่งเดียว ประชาชนบางส่วนอาจไม่สะดวกในการรับบริการในคลินิกที่ลงทะเบียนไว้
"ดังนั้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพชุดใหม่ว่า ควรแก้ปัญหาในจุดนี้เพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชนไปรับบริการในคลินิกอื่นๆ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่น เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ใกล้บ้าน ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกในการไปรับบริการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเกิดกรณีที่ สปสช.ยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่น 190 แห่ง สปสช.จึงถือโอกาสนี้ใช้นโยบายใหม่เข้ามานำร่องในเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป" นพ.จเด็จ กล่าว
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับบริการใหม่นี้ จะแบ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ เป็น 6 โซน แต่ละโซนมีหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริการสุขภาพของ กทม. ที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้เฉลี่ยประมาณ 100 แห่ง
"เชื่อว่าเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกในการไปรับบริการใกล้บ้าน ส่วนโรงพยาบาลรับส่งต่อ จากเดิมที่มีโรงพยาบาลเดียว จะปรับ ให้แต่ละโซนมีโรงพยาบาลรับส่งต่อ 7-10 แห่ง ช่วยให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องกังวลว่าในกรณีที่เจ็บป่วยมากๆ แล้วจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ไม่มั่นใจ มีความหนาแน่น หรือเตียงไม่พอ อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้ว สปสช.อยากให้ทุกโซนมีโรงพยาบาลระดับ Super Tertiary หรือโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง 1 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติบางเขตพื้นที่ก็ไม่มีโรงพยาบาลลักษณะนี้ เช่น เขตลาดพร้าว ดังนั้น ในทางปฏิบัติก็อาจเป็นโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี หรือ รพ.รามาธิบดี ที่รับดูแลให้ เป็นต้น" นพ.จเด็จ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของหน่วยบริการที่จะเข้ามาร่วมให้บริการนั้น แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ หน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งจะมีประชากรที่ต้องดูแลในพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 10,000 คน และอีกส่วนคือ คลินิกที่เป็นหน่วยร่วมบริการ เช่น คลินิกเวชกรรมที่เปิดช่วงเย็น คลินิกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น คลินิกโรคกระดูกและข้อ คลินิกสูตินรีเวช คลินิกเด็ก ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมไม่มีในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้เมื่อประชาชนต้องการพบแพทย์เฉพาะทางต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล
"แต่ในระบบใหม่นี้ สปสช.ได้เพิ่มเข้ามา และหวังว่าจะช่วยให้บริการพิเศษสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการบริการพิเศษเฉพาะทางต่างๆ ได้มากขึ้น หลังจากออกประกาศเชิญชวนหน่วยบริการเอกชนให้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ขณะนี้มีคลินิกเวชกรรมติดต่อเข้ามาแล้วประมาณ 50 แห่ง ส่วนคลินิกที่สมัครเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการมี 63 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ขอข้อมูลไปแล้วและอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ซึ่งคาดว่าใน 1-2 วันนี้ จะมีสมัครเข้ามาเพิ่มอีก
ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนคลินิกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างๆ ให้เข้าร่วม โดย สปสช.จะจ่ายในลักษณะ free schedule ท่านเคยเก็บค่าบริการจากประชาชนอย่างไร ก็เปลี่ยนมาเก็บที่ สปสช.แทน เราได้เปิดโพสต์อัตราการจ่ายต่างๆ ในเว็บไซต์แล้ว หากท่านเห็นว่าเป็นราคาที่พอรับได้ ก็ขอเชิญชวนเข้า มาเป็นหน่วยร่วมบริการช่วยให้บริการประชาชนไปกับเรา" นพ.จเด็จ กล่าว
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำว่า ในส่วนของประชาชนที่สงสัยว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขอเรียนว่าไม่ต้องทำอะไร คนที่มีหน่วยบริการประจำอยู่แล้วก็ไปใช้บริการเหมือนเดิม คนที่มีปัญหาถูกยกเลิกหน่วยบริการประจำ สปสช.จะหาคลินิกใหม่ให้ หรือถ้ายังไม่มีที่ลง ก็ยังสามารถไปหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายที่ไหนก็ได้เหมือนเดิม โดยวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สปสช.จะประกาศรายชื่อ คลินิกที่สมัครเข้ามาทั้งหมด รวมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 134 แห่งที่มีอยู่เดิม เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่าจะไปรับบริการที่ไหนได้บ้าง
ด้าน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. กล่าวว่า "พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง" ผู้ว่าฯกทม. ได้มอบนโยบายว่า กทม.ต้องช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับ สปสช.อย่างเต็มกำลัง โดยขณะนี้มีสถานพยาบาลที่เหลืออยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ กทม. 136 แห่ง และหน่วยงานของ กทม.ที่มีสถานพยาบาลก็มีอีก 2 ส่วน คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ใน 50 เขต อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักอนามัย กทม. และโรงพยาบาลอีก 11 แห่ง อยู่ในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. และยังมี รพ.วชิรพยาบาล ภายใต้การกำกับของ กทม.อีก 1 แห่ง ซึ่งในระบบบริการใหม่นี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละเขต
นอกจากทำหน้าที่ให้บริการระดับปฐมภูมิแล้ว ยังเป็น Regulator ให้คำปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะ กำกับดูแลคลินิกเอกชนที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในเขตนั้นๆ ทั้งคลินิกปฐมภูมิ และคลินิกร่วมบริการ เช่น เขตลาดพร้าวมีศูนย์บริการสาธารณสุข 1 แห่ง มีคลินิกที่สมัครกับ สปสช. อาจมีทั้งคลินิกเด็ก คลินิกด้านกระดูก คลินิกสูตินรีเวช ซึ่งคลินิกทั้งหมดเหล่านี้จะร่วมกันให้บริการประชาชนโดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขกำกับดูแลข้อมูล ให้คำแนะนำให้ทำตามระบบของ สปสช. ตลอดจนดูเรื่องมาตรฐานด้านกายภาพต่างๆ
"การดูแลสุขภาพในรูปแบบพื้นที่เขต จะทำให้รู้ว่าในพื้นที่นั้นๆ ปัญหาสุขภาพของประชาชนในเขตนั้นๆ เป็นโรคอะไรบ้าง เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เป็นเขตเล็ก แต่มีผู้สูงอายุมากที่สุด ถ้ารู้สภาวะ รู้บริบทของพื้นที่ จะทำให้หน่วยบริการด้านสาธารณสุขออกแบบกิจกรรมโครงการตอบสนองการแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง" นพ.ชวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ชวินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พื้นที่ กทม.มีความซับซ้อนต่างจากจังหวัดอื่นๆ การพัฒนาระบบบริการจึงต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยให้มากขึ้น ซึ่งหากการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ กทม.ได้รับการตอบรับดี จะสามารถพัฒนาโมเดลเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ นำไปขยายผลการให้บริการในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดนั้นๆ ต่อไปได้