“ยกรถสูง”เพิ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กระทรวงมหาดไทย” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอันตรายจากการปรับแต่งระดับความสูงของรถ พร้อมแนะการปรับแต่งอย่างถูกวิธี
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การปรับแต่งระดับความสูงของรถแม้จะทำให้รถมีความสวยงาม และเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางของผู้ขับขี่ แต่หากปรับแต่งอย่างไม่ถูกวิธีหรือใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการปรับแต่งระดับความสูงของรถอย่างถูกวิธี ดังนี้
การโหลดต่ำ ไม่เหมาะสำหรับใช้งานบนถนนที่มีสภาพขรุขระ เพราะอาจทำให้ท้องรถติดถนน โดยเฉพาะกรณีเลี้ยวรถและต้องหักพวงมาลัยมากๆ จะทำให้ระบบบังคับเลี้ยวฝืดกว่าปกติ ทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ขับขี่ลดลง เนื่องจากการโหลดต่ำทำให้ผู้ขับขี่มีระยะและขอบเขตในการมองเห็นเส้นทางจำกัด ช่วงล่างสึกหรอเร็วกว่าปกติ เนื่องจากรถมีระดับต่ำทำให้ยางกระแทกกับบังโคลน จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน
การยกสูง เหมาะสำหรับใช้งานในเส้นทางขึ้น–ลงเขา ทางลาดชัน หรือเส้นทางขรุขระ แต่การยกสูงทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัวและยึดเกาะถนนลดลง เมื่อขับรถผ่านเส้นทางโค้งด้วยความเร็วสูง จะส่งผลให้รถเสียการทรงตัวได้ง่าย ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางระยะไกลดีขึ้น เนื่องจากรถมีความสูงกว่าปกติ แต่ทำให้เกิดจุดบอดในการมองเห็นบริเวณด้านท้ายรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ข้อควรปฏิบัติในการปรับแต่งความสูงของรถ เลือกใช้ขนาดยางให้เหมาะสมกับซุ้มล้อ โดยยางต้องไม่ใหญ่เกินบังโคลนล้อ จนต้องแบะล้อออกจากซุ้มล้อ ติดตั้งกระจกส่องมุมและกระจกส่องหลัง จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถกะระยะห่างของรถได้อย่างแม่นยำ และมองเห็นเส้นทางด้านหลังได้ชัดเจนขึ้น ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงโดยเฉพาะขณะเข้าโค้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทรงตัวและยึดเกาะถนน
ทั้งนี้ การโหลดต่ำและยกสูงรถให้เหมาะสมกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ในการใช้งานรถ รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง