ยกค่าฝุ่นจิ๋วกทม.เป็นภัยพิบัติ เร่งแก้ปัญหาจราจร

ที่มา : เดลินิวส์


ยกค่าฝุ่นจิ๋วกทม.เป็นภัยพิบัติ เร่งแก้ปัญหาจราจรรับมือในอนาคต thaihealth


แฟ้มภาพ


อดีตอธิบดีคพ.ยกค่าฝุ่นละอองPM2.5ในกทม.เป็นภัยพิบัติ เร่งแก้ปัญหาจราจรห้ามจอดรถริมถนน-จำกัดรถยนต์เข้าเมือง “กทม.” ชี้ 5 ปีจากนี้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า-อาคารใหม่130แห่งทำฝุ่นพิษเมืองกรุงวิกฤต


เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “หาทางออกร่วมกันในการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” โดยนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีคพ.และอาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสถิติค่าฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อปี 2556 เปรียบเทียบกับปี 2560 ค่าฝุ่นละอองลดลงร้อยละ 25 แต่ค่าฝุ่นที่ลดลงไม่ได้บอกว่าให้วางใจ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี สิ่งที่หน่วยงานราชการควรทำคือชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทั้งนี้การแก้ปัญหาต้องเกาให้ถูกที่คัน สภาพอากาศที่เป็นตัวแปร ส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาไหม้ของดีเซลจากการจราจรและอุตสาหกรรม ร้อยละ 52  เกิดจากการเผาร้อยละ 35 และเกิดจากการแปรปรวนของของสภาพอากาศผนวกกับการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ดังนั้นเห็นจำเป็นต้องใช้มาตรการระยะยาวเพื่อลดค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ควบคู่กับการใช้มาตรการระยะสั้น 3 เดือน เป็นมาตรการเฉพาะกิจ ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. ของทุกปี และเห็นควรยกระดับขึ้นเป็นภัยพิบัติของประเทศ


นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า มาตรการระยะสั้น "ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ" ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลาบรรทุกเข้าในเขต กทม. เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก ป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าใน กทม. ในชั่วโมงเร่งด่วน และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอีกให้จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในกรุงเทพ กทม. ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่  และกทม.และปริมณฑลออกประกาศจังหวัดห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน ระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย. และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด


นายสุพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการระยะยาว ควรจัดการจราจรให้คล่องตัว เช่น ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่เวลา 06.00 น.-21.00 น. และจัดระเบียบการจราจรและคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามกฎจราจรอย่างเข้มงวด ควบคุมการก่อสร้างในเขต กทม. ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองตามข้อกำหนดของ กทม. และให้จังหวัดปริมณฑลดำเนินการในลักษณะเดียวกัน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นให้การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้าง เพื่อลดกิจกรรมหรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น เพราะแหล่งกำเนิดค่าฝุ่นรองลงมาคือการเผา ร้อยละ 35


ขณะที่นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการพิทักษ์สุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน สามารถลงไปในหลอดลมของมนุษย์ได้ กระทั่งเข้าไปถึงกระแสเลือด ปฏิกิริยาในร่างกายทำให้ความดันขึ้น เส้นเลือดหดตัว หัวใจขาดเลือดและเต้นผิดปกติ ส่งผลไปยังเส้นเลือดในสมองตีบ หรือสมองขาดเลือด และส่งผลเรื้อรังเป็นมะเร็งได้ สำหรับวิธีป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย มี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ 1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด 3.ใช้หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้ เช่น N95, P100 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงในที่โล่งแจ้ง และ 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ


ด้านนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดี คพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา คพ.ได้ประสานกับกรมการขนส่งทางบกในเรื่องการลดมลพิษจากรถยนต์ ซึ่งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะเกิดในช่วงปลายปี-ต้นปี โดยจะแก้ปัญหาในพื้นที่กทม.ชั้นในอย่างไร ซึ่งมีการเสนอมาตรการ เช่น ห้ามรถยนต์ดีเซลเข้ามาในพื้นที่เหมือนปักกิ่งประเทศจีน ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่สถานการณ์รุนแรง จะสามารถทำได้หรือไม่ รวมการทั้งดูและในเรื่องการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า การจราจล การเผาในพื้นที่กทม. และปริมณฑล จะต้องหยุดเมื่อสถานการณ์ PM 2.5 รุนแรงในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ได้หรือไม่ ทั้งนี้ได้ประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยาในการคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนเกิดสถานการณ์ และเพิ่มจุดตรวจวัดค่า PM 2.5 แล้ว ส่วนในระยะยาวต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล การจัดเก็บภาษีรถยนต์เก่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาต่อไป


นางเติมศิริ จงพูนผล ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า   มาตรการเร่งด่วนที่กทม.ได้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการจราจร การก่อสร้าง ทำให้เกิด PM2.5  จึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน และลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างโดยให้ทำรั้วสูง 2 ม.รอบบริเวณ มีการฉีดน้ำทำความสะอาด ห้ามการก่อสร้างในยามวิกาล ลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจกรรมต่างๆ  ขณะนี้ กทม. ได้ติดตั้งรถโมบายตรวจวัดค่ามลพิษทางอากาศตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งทำให้การจราจรติดขัดไปด้วย จากนั้นจะนำมาประเมินผลว่าการก่อสร้างดังกล่าวทำให้เกิดมลพิษในระดับใด โดยจะสามารถเผยแพร่ได้ในเดือน เม.ย.  นอกจากนั้นขณะนี้มีโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ  ขอนุญาตก่อสร้างจำนวน 130 โครงการ  ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า อีกทั้งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ชมพู และส้ม เปิดโครงการขึ้นพร้อมกัน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างถึง 5 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาจราจรตัดขัดอย่างหนัก และเป็นสาเหตุ PM 2.5 เราจึงต้องหารือถึงการจัดระเบียบการจราจรใหม่ ในอนาคตหากไม่มีการทำแผนอะไรเลย สถานการณ์คุณภาพอากาศจะเกิดวิกฤตแน่นอน


ในระยะยาว กทม.มีแผนดำเนินการคือต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งเมืองให้เร็วที่สุด เพราะตรงนี้เป็นปัญหาในระบบใหญ่และเป็นวาระแห่งชาติ ต้องกำกับดูแลให้การก่อสกร้างระบบขนส่งมวลชนเป็นไปตามแผนและให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการห้ามใช้รถในวันคู่ วันคี่ ถ้าหากดำเนินการในช่วงนี้ก็จะมีผลกระทบต่อประชาชนด้วย เพราะระบบขนส่งมวลชนยังไม่ครอบคลุม แต่ในอนาคตอาจประกาศได้เหมือนในต่างประเทศ และต้องมีมาตรการด้านผังเมืองรวม ตลอดจนการควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษให้ออกมาอยู่นอกเขตเมืองชั้นใน” นางเติมศิริ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code