มุมงามผ่านเลนส์ พลังสตรีแดนใต้
ภาพข่าวสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชน เสมือนย้ำเตือนให้คนนอกพื้นที่หวาดกลัวจนไม่กล้าลงไปสัมผัส แท้จริงแล้ววิถีชีวิตและความเป็นอยู่ยังมีมุมที่สวยงาม และเมื่อผ่านคมเลนส์ นัยที่ช่างภาพสื่อผ่านออกมาช่วยอธิบายความถึงพลังอันแข็งแกร่งของเธอ “สตรีแดนใต้”
มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ และองค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรม “พลังสันติภาพผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้” เมื่อไม่นานนี้ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานมีการเปิดเวทีเสวนาให้เจ้าของภาพถ่ายมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นางสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการองค์การ อ็อกแฟมฯ เกริ่นนำว่า ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาทุกวันนี้ทำให้คนไม่กล้าไปท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคิดว่าเป็นพื้นที่ที่น่ากลัว การจัดทำโครงการนี้จะทำให้คนรู้จัก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น โดยใช้สื่อซึ่งเป็นช่างภาพลงไปสัมผัสเหตุการณ์จริง และนำข้อมูลต่างๆ มานำเสนอผ่านภาพถ่าย เพื่อให้ประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการรับรู้เรื่องราวในอีกแง่มุม และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายวินัย ดิษฐจร ช่างภาพอิสระ กล่าวว่า ในการรายงานข่าวจะเห็นการถ่ายทอดแค่ว่ามีคนเจ็บคนตายหรือการสูญเสีย แต่โครงการนี้จะรายงานถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในข่าว ซึ่งตนได้รับโจทย์ให้ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิงกับความเสี่ยง จากการลงพื้นที่พูดคุยกับพวกเขา ทำให้ทราบว่าเขาไม่มีทางเลือกที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงต้องปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่กับมันให้ได้ จึงเลือกถ่ายภาพผู้หญิงที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง เช่น ภาพของอาสาสมัครหญิงถืออาวุธปืนเพื่อปกป้องชุมชนของตนเอง
“ภาพถ่ายของผมจะเป็นสีขาวดำทั้งหมด เพราะคิดว่าภาพขาวดำสวยงามในแง่ศิลปะที่สื่อความหมายและแสดงความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์กับวิถีชีวิตได้ดี โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ใบหน้า แววตาและท่าทางซึ่งบ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และสะท้อนให้เห็นว่าแม้พวกเขาจะอยู่ในบรรยากาศความรุนแรง แต่ยังมีมุมชีวิตอีกด้านหนึ่งที่ตรงกันข้าม เช่น การอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ทุกคนต่างมีสันติภาพและเข้าใจซึ่งกันและกัน”
ด้าน นายวันชัย พุทธทอง ช่างภาพและนักข่าวบล็อกเกอร์ประจำภาคใต้ บอกเล่าว่า ภาพถ่ายของตนเองจะเป็นมุมที่แตกต่างจากข่าวเหตุการณ์รายวัน ต้องการสื่อเรื่องความมั่นคงในการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ เรื่องราวคุณภาพชีวิตที่ดีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีอยู่มาก ทุกพื้นที่ทุกหมู่บ้านตั้งแต่ภูเขาถึงทะเล ซึ่งไม่ได้ถูกบอกออกไปข้างนอก คนถ่ายรูปต้องการบอกเรื่องราวเหล่านี้ว่าไม่ได้มีแต่ความรุนแรง เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบาย
“ในอ่าวปัตตานีมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์มาก ผมถ่ายรูปกลุ่มผู้หญิงที่เขาสามารถงมหอยในอ่าวปัตตานีเพียง 2-3 ชั่วโมงก็มีรายได้ 300-400 บาท ทำให้เวลาที่เหลือได้อยู่กับครอบครัว ปฏิบัติกิจทางศาสนา ไม่ต้องตรากตรำทำงานในโรงงานเหมือนที่อื่น
หรือกลุ่มแม่บ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการที่สามีเสียชีวิต เขารวมกลุ่มกันทำน้ำพริก ชื่อกลุ่มและชื่อสินค้าว่า เซากุน่า แปลว่า รสชาติของเรา เขาเล่าว่าหลังจากสูญเสียสามีซึ่งเป็นเสาหลักในครอบครัวชีวิตเคว้งคว้างมากไม่รู้จะไปทางไหน แต่พอตั้งหลักได้ก็รู้สึกว่าต้องสู้ต่อเพราะมีลูกและคนข้างหลังอีกเยอะ จึงรวมกลุ่มกับสมาชิกทั้งหมด ในกลุ่มเป็นหญิงผู้สูญเสียสามี และสูญเสียลูกชายหัวอกเดียวกัน คุยกันเข้าใจ ทุกครั้งที่มีงานออกร้านเอาน้ำพริกไปขาย คนจะเข้ามาให้กำลังใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ที่ทำให้เขามีพลังเดินต่อไป” วันชัยกล่าว
อีกหนึ่งช่างภาพและนักเขียนสารคดี นายสมศักดิ์ ล่ำพงศ์พันธุ์ สะท้อนปัญหาว่าสิ่งที่คนในพื้นที่เป็นกังวลและจะรู้สึกไม่ดี คือการนำเสนอข่าวที่มีแต่ความรุนแรง พอเราเข้าไปเขาจะถามว่าเป็นนักข่าวหรือเปล่า บ้านเขามีสิ่งดีๆ มากมาย ทำไมไม่เอาไปลง แต่กลับลงแต่ข่าวความรุนแรง สำหรับโจทย์ที่ตนได้รับคือการประกอบอาชีพของชาวบ้าน จึงอยากเน้นไปที่ภาพแห่งความสุขและรอยยิ้มของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ที่สำคัญคือมิตรภาพในครอบครัว
“การจะนำเสนอภาพรอยยิ้มของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แพร่กระจายไปยังคนทั่วไปจากรุ่นสู่รุ่นได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องอาศัยสื่อหลายๆ ทาง ภาพของผมที่นำมาเผยแพร่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมในพื้นที่ที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คนที่นั่นเองก็ต้องการให้เรานำเสนอด้านที่ดีเช่นกัน
ขณะที่ช่างภาพหญิงเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่ม คัทลียา จารุทวี เล่าว่าก่อนลงพื้นที่เคยคิดว่าอยากจะไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สักครั้ง แต่ไม่กล้าไปคนเดียว เมื่อองค์การ อ็อกแฟมฯ ติดต่อมา จึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีและปลอดภัยกว่าที่เราจะไปเอง โจทย์ที่ได้มาคือถ่ายรูปหนุ่มสาวในจ.ปัตตานีและยะลา โดยเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวัน
คัทลียาเล่าต่อว่า เมื่อไปถึงยังกลัวอยู่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แม้จะมีด่านตำรวจและทหารตั้งอยู่ คนที่ไปเจอก็น่ารัก ทั้งเด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่ ต้อนรับดีมาก ภาพที่เราประทับใจมากที่สุดคือภาพน้องๆ กระโดดลอยตัวบนหาดทราย แสดงให้เห็นถึงความสุขและความสดใส
“อยากเชิญชวนให้ไปท่องเที่ยวกัน เศรษฐกิจของเขาก็จะดีมากขึ้น เพราะ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและสวยงามมากมาย หากได้ลงไปในพื้นที่จริงเราจะเห็นมุมที่เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนั้นมีมากกว่ามุมที่เป็นความรุนแรง
แม้เราจะเป็นคนนอกพื้นที่แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนนอกพื้นที่ และอยากสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น” ช่างภาพสาว กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด