มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท thaihealth


20 บาทต่อหัว คือเงินที่รัฐจัดสรรให้โรงเรียนเป็นค่าอาหารกลางวันของเด็ก แต่จะทำเช่นไรให้ 20 บาทนี้กลายเป็นเมนูอาหารในถาดหลุมให้เด็กได้อย่างมีคุณภาพ


โรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย อ.เมือง จ.ตาก ใช้เวลา 5 ปี (2557-ปัจจุบัน) ในการพลิกจุดอ่อนมื้อกลางวันของโรงเรียนให้กลายเป็นจุดแข็ง ด้วยความร่วมมือของครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน ทั้งยังเป็น "ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส" ของ "โครงการเด็กไทยแก้มใส" สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง


ชู "ดอนมูลชัยโมเดล"


ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้สอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียน 184 คน มีครู 10 คน มีเทศบาลเมืองตากดูแลงบประมาณและมีเทศบาลตำบลไม้งาม ดูแลด้านสถานที่ สุพจนีย พัดจาด ผู้อำนวยการ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดดอนมูลชัย เผยว่า ช่วงปี 2556 ที่มารับตำแหน่งพบว่าโรงเรียนแห่งนี้มีปัญหาเรื่องอาหารกลางวัน เคยมีการร้องเรียนว่าไม่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาปี 2557 จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเด็กไทยแก้มใสของ สสส.ภายใต้ยุทธศาสตร์ดอนมูลชัยโมเดล เป็นตัวขับเคลื่อน


"เราใช้ตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นและเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งโรงเรียน โดยปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน ชวนครูที่จบโภชนาการชุมชน โดยตรงเข้ามาร่วม มีการวางระบบการเฝ้าระวัง ภาวะโภชนาการ คัดแยกเด็กที่มีปัญหาแต่ละกลุ่ม เช่น อ้วนเกินไป ผอมเกินไป เพื่อวางแผน ดูแลเรื่องโภชนาการพัฒนาให้ตรงจุด ขณะเดียวกันก็เริ่มต้นเรียนรู้โปรแกรมสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือไทยสคูลลันช์ (Thai Shool Lunch) โจทย์สำคัญคือ อยากให้ทุกเมนูดีที่สุด ได้คะแนน 5 ดาว หรือ 4 ดาว แต่ก็มีบ้างที่ได้ 3 ดาวเข้าร่วม" สุพจนีย กล่าวและว่า ร่วมโครงการมา 5 ปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลง เด็กมีคุณภาพมีการเติบโตสมส่วน ก่อนเข้าโครงการมีเด็กอ้วนกว่า 13% ปัจจุบันเหลือเพียง 5% ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ สสส.กำหนดไว้ที่ 7% ผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีโอกาสเป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งขันวิชาการในระดับภาค พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน ได้เห็นว่าลูกหลานเขามีพัฒนาการดี ก็หันมา ให้ความใส่ใจเรื่องอาหารและร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน


มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท thaihealth


ชุมนุม "ไก่ นา ปลา เห็ด ผัก สหกรณ์"


สุพจนีย กล่าวต่อว่า เพื่อเชื่อมโยงในการพัฒนาอาหารกลางวันเข้ากับไทยสคูลลันช์ในงบ 20 บาทจะจัดอะไรได้บ้าง จึงเปลี่ยนวิธีคิดลงมือทำกันเองตั้งแต่การปลูกข้าว ทำฟาร์มไก่ไข่ เพาะเห็ด ปลูกผัก เลี้ยงปลา กลายเป็นชุมนุมหรือฐานการเรียนรู้ที่เรียกสั้นๆ ว่า "ไก่ นา ปลา เห็ด ผัก" ซึ่งจะเชื่อมเข้ากับ "สหกรณ์" ที่มีทั้งสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมบุญ ให้เด็กทุกคนมาร่วมตามสมัครใจ กระบวนการเหล่านี้เป็นการปลูกฝังและสอนให้เด็กรู้จักอาหารปลอดภัย ตั้งแต่การผลิต การเลือก การจำหน่าย ต้องทำอะไรบ้าง การเลือกซื้อวัตถุดิบ เช่น ผักบางชนิดที่ไม่สามารถปลูกได้เอง จะพาเด็กลงไปเลือกยังแหล่งผลิตในชุมชนด้วยตนเอง ให้เด็กไปเรียนรู้เองว่าที่ไหนผลิตแบบปลอดสารพิษ ที่ไหนใช้สารพิษ


โรงเรียนจ้างแม่ครัว 2 คนมาทำอาหารกลางวัน เมนูอาหารกำหนดโดยนักเรียน ผ่านกลุ่มสภานักเรียน 14 คน จัดสำรับจาก ไทยสคูลลันช์ไว้ล่วงหน้า 1 ภาคเรียน ซึ่งเด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ คัดเลือกเมนู 5 ดาว บางมื้อ อยู่ที่ 17 บาท ส่วนการจัดซื้อใช้สหกรณ์การเกษตรรับซื้อวัตถุดิบของชุมนุมต่างๆ มาขายต่อสู่สหกรณ์ร้านค้า เพื่อนำวัตถุดิบไปมอบให้แม่ครัวทำอาหาร โดยรูปแบบการ บริหารสหกรณ์จะเน้นให้เด็กทุกคนทำเองทั้งหมด ครูมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา และให้ใช้ ระบบพี่สอนน้องถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น


มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท thaihealth


สหกรณ์ของที่อื่นๆ นั้นอาจจะต้องลงเงิน แต่เด็กที่นี่ส่วนใหญ่ยากจนเขาจึงต้อง ลงแรงอย่างเดียว โดย 1 หุ้น=1 แรง จากการร่วมกิจกรรมชุมนุม 1 ชั่วโมง หรือ งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ปันผลปลายปีสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือเลือกสติกเกอร์ใบโพธิ์ ส่วนใหญ่เด็กจะเลือกอย่างหลังสะสมไว้เป็นพาสปอร์ต เข้าเรียนต่อ ม.1 หรือแลกทุนการศึกษา ซึ่งถ้าใครใช้แล้วก็ถือว่าหมดไปและต้องเริ่มสะสมใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เด็กคนอื่นๆ


2 หลักสูตรแอคทีฟเลิร์นนิ่ง


นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของทุกวัน ได้จัดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่เน้นการสร้างทักษะกระบวนการคิดใน 2 หลักสูตร คือ กินตามวัยแก้มใส สุขภาพดี ที่มุ่งให้เด็กได้เรียนรู้สุขภาพและวิเคราะห์สุขภาพตนเองได้ผ่านสมุดโภชนาการ และหนูน้อยแก้มใสไทยสคูลลันช์ การฝึกจัดสำรับอาหารกลางวันผ่านระบบไทยสคูลลันช์ การคำนวณปริมาณผลผลิตที่ได้นำเรื่อง "ค.ร.น." ในวิชาคณิตศาสตร์มาบูรณาการสอนให้เด็กคิดคำนวณเรื่องการปลูกผักเพื่อให้ได้ผลผลิตทันใช้ และอนาคตจะต่อยอดไปสู่หลักสูตรฉลาดกินและฉลาดเลือก เพื่อให้รู้จักสัญลักษณ์หลังซองอาหาร


มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท thaihealth


"การนำแอคทีฟเลิร์นนิ่งมาช่วย ทำเด็กเกิดการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่นั่งในห้องเรียนเฉยๆ เพราะเด็กได้ลงมือคิด ตั้งข้อสังเกต ลงมือทำเป็นชิ้นงานและนำเสนอผลงานดีกว่าการสาธิตแบบธรรมดา เด็กสนุกตื่นตัวกับการเรียนรู้ ซึ่งก็กระตุ้นให้ครูต้องพัฒนาตนเองเสมอ ซึ่งหลักสูตรแก้มใสสุขภาพดีก็ได้นำขึ้นเว็บไซต์โครงการเด็กไทยแก้มใสให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปใช้" สุพจนีย กล่าวและว่า ทุกอย่างที่ทำไว้ไม่มีทางสูญหายต่อให้มีการเปลี่ยนผู้บริหาร หรือครูเพราะได้ถอดบทเรียน จัดทำคู่มือเพื่อใช้ศึกษาและทำงานต่อยอดได้แน่นอน


สอน 500 โรงใช้ไทยสคูลลันช์


มื้อเที่ยง 5 ดาว ราคา 20 บาท thaihealth


จงกลนี วิทยารุงเรืองศรี ผู้จัดการ โครงการเด็กแก้มใส สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเวลานี้กระจายใน 50 จังหวัด มีโรงเรียนเป็นศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้ 112 โรง เน้นคุณภาพอาหารกลางวัน ดูถาดอาหารมีคุณภาพครบถ้วนหรือไม่มีการพัฒนาระบบไทยสคูลลันช์ที่นักวิจัยได้จัดเมนูอาหารให้โรงเรียนได้เลือกใส่สำรับอาหารตนเอง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ทุกโรงเรียนนำไทยสคูลลันช์มาใช้เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนจริงๆ โดยจากนี้ สสส.จะอบรมเพื่อสร้างวิทยากรจาก 100 กว่าโรงเรียนเพื่อไปขยายผลสู่อีก 500 โรงเรียนให้ใช้ไทยสคูลลันช์เป็น ตลอดจนต้องเชื่อมจากถาดอาหารเน้นให้เด็กกินผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษเพิ่มขึ้น โดยพึ่งพาชุมชนที่เป็นผู้ผลิตเพราะลำพังโรงเรียนไม่สามารถผลิตเองได้ทั้งหมด


ขณะเดียวกัน จะสอนประเมินภาวะโภชนาการเด็กว่ามีความสมส่วนหรือ ไม่ อ้วนหรือผอมเกินไปหรือไม่ ผ่านโปรแกรมของกรมอนามัย หรือสถาบันโภชนาการ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยทั่วประเทศมีน้ำหนักเกินประมาณ 20% ปัจจุบันลดจำนวนลงเรื่อยๆ ประมาณ 13% เฉพาะเด็กที่เข้าร่วมโครงการเหลือเพียง 8.3%


ทั้งนี้ กรมการปกครองส่วน ท้องถิ่น มีนโยบายที่สอดคล้องกับ สสส.ที่จะให้ปีหน้าให้เกิดท้องถิ่นต้นแบบจัดการอาหารกลางวันครบวงจรโดย 1 จังหวัดมี 5 ท้องถิ่น โดยได้เสนอว่าควรจะมีนักโภชนาการท้องถิ่นอยู่ในพื้นที่ ซึ่งทราบว่าบางจังหวัดท้องถิ่นเริ่มจ้างผู้จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีอาหาร มาทำ หน้าที่ในส่วนนี้เพื่อช่วยโรงเรียนในการ จัดการคุณภาพอาหารด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code