มิใช่แค่เรื่องพูดกันเล่น ‘ติดคอตาย’
ภัยนี้ ‘อย่าประมาท!‘
แม้จะเคยเกิดอยู่เนือง ๆ และก็เป็นข่าวไม่เล็กทุกครั้ง รวมทั้งมักจะมีการเตือนตามมาด้วย แต่ภัย “ติดคอตาย” ก็ยังเกิดกับคนไทย โดยเฉพาะในเด็ก อย่างต่อเนื่อง เมื่อเร็ว ๆ นี้เด็กรายหนึ่งก็ “ลูกชิ้นติดคอตาย”
นี่ตอกย้ำว่า “ติดคอตาย” มิใช่แค่เรื่องพูดกันเล่น ๆ
แต่เป็น “ภัยคนไทย” อีกรูปแบบที่ประมาทไม่ได้ !!
“กรณีติดคอทำให้เสียชีวิตนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะเด็กเท่านั้น กับผู้ใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ และเกิดได้หลายแบบ ทั้งจากความประมาท ที่พบก็เช่นกินไปคุยไป หรือหัวเราะขณะทานอาหารทำให้เกิดสำลัก ทั้งทางกายภาพ ที่มักเกิดในผู้สูงอายุ ปกติเวลาเคี้ยวอาหารช่องทางเดินหายใจจะเปิดโดยอัตโนมัติให้อาหารลงไปในช่องทางเดินอาหาร ในผู้สูงอายุเนื้อเยื่อจะเริ่มเสื่อม โดยเฉพาะหูรูดที่ทำหน้าที่เปิด-ปิด หากเกิดบริเวณช่องทางเดินหายใจจะสำลักได้ง่าย อาหารจะหลุดเข้าทางเดินหายใจ ปิดกั้น 5-10 นาที ก็จะ ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน” …เป็นการระบุของ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ในฐานะนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย
สำหรับกับเด็ก ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า… โดยธรรมชาติของเด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เมื่อเห็นอะไรมักหยิบเข้าปาก กรณีอาหารหรือสิ่งของติดคอหรือติดหลอดลมจึงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังของที่จะติดคอเด็ก ระวัง ของเล่น ของชิ้นเล็ก ๆ แม่เหล็ก กระดุม เหรียญ นอต ตะปู ลูกปัด นกหวีด กระสุนปืนพลาสติก รวมถึงของกิน ไม่ว่าจะเป็น เยลลี่ ลูกชิ้น ลูกอม เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ
วิธีสังเกตว่ามีของติดคอเด็กคือเด็กจะตกใจ ร้องไห้แต่ไม่มีเสียง พูดก็ไม่มีเสียง เพราะมีสิ่งที่อุดอยู่ที่หลอดลมหรือหลอดอาหาร เด็กจะพยายามตะเกียกตะกายดิ้นรนเพื่อให้คนช่วย เพราะเด็กไม่สามารถบอกหรืออธิบายให้ผู้ปกครองทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์นี้ถ้าเกิดกับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากไม่สามารถเอาสิ่งของที่อุดอยู่ออกมาได้ สักพักหน้าจะเขียว ตัวจะเขียว เพราะไม่มีออกซิเจน เลือดสีแดงก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว
การปฐมพยาบาลสำหรับเด็กที่มีสิ่งของติดคอ นพ.สันต์บอกว่า… เบื้องต้นคือต้องกระตุ้นให้ไอให้ออกมาเอง ถ้าเป็นเด็กเล็กให้จับขาหิ้วแล้วตบหลังเหมือนกับเด็กแรกคลอด กรณีเด็กโตจับตัวนอนคว่ำแล้วตบหลังแรง ๆ ของที่ติดอยู่จะหลุดออกมา หรือให้เด็กนั่งโดยให้ศีรษะต่ำกว่าหน้าอก ใช้มือข้างที่ถนัดพยุงศีรษะเอาไว้ ส่วนมืออีกข้างให้ใช้ฝ่ามือกระแทกบริเวณสะบักทั้งสองข้าง 4 ครั้ง แต่ถ้าของยังไม่หลุดออกมา ให้ยืนคร่อมหลังเด็ก กำมือให้นิ้วโป้งอยู่บนท้องระหว่างบั้นเอวกับลิ้นปี่ แล้วใช้มืออีกข้างทำกำปั้นกระแทกเร็ว ๆ 4 ครั้งให้ตรงจุด
“ถ้าปฏิบัติเบื้องต้นแล้วยังไม่ได้ผลรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความสามารถในการดูแลเด็ก เพื่อที่จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น” …นพ.สันต์ระบุ
ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) แนะนำเพิ่มเติมว่า… การช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นกับภาวะทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอมนั้น โดยทั่วไป ใช้วิธีกดกระตุกท้องเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ในท่ายืน ผู้ช่วยเหลือยืนด้านหลังผู้ป่วยใช้มือสองข้างอ้อมมากดทางด้านหน้า วิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุ 8 ขวบขึ้นไป หากผู้ป่วยหมดสติจะทำในท่านอนหงาย โดยอาจใช้มือเปิดปากผู้ป่วย ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอม ให้ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปากดึงสิ่งแปลกปลอมออกมา แต่กรณีนี้ต้องทราบแน่ชัดก่อนว่าสิ่งแปลกปลอมอยู่บริเวณใด หากอยู่ลึกจะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
ทั้งนี้ วิธีการจัดท่าทางที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มแรงดันขับสิ่งแปลกปลอมออกมา ซึ่งแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย อายุ และผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ด้วย การช่วยเหลือเบื้องต้นจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละราย ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจไม่มีทักษะเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ทักษะการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นมีความสำคัญมาก สพฉ. จึงพยายามจะเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวนี้ให้แก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้
นพ.ไพโรจน์บอกอีกว่า… สำหรับ สพฉ. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จะมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการอยู่ทั่วประเทศจังหวัดละ 1 ศูนย์ ผู้ประสบเหตุหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถติดต่อแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือได้ที่ โทร.1669 ทางศูนย์จะตรวจสอบข้อมูลแล้วประสานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีขีดความสามารถเพียงพอไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือ-รักษาเบื้องต้น พร้อม ๆ กับลำเลียงผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีการประสานให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือไว้แล้ว
“การมีสิ่งแปลกปลอมติดคออุดกั้นทางเดินหายใจ ถ้าผู้ป่วยขาดอากาศหายใจอาจเสียชีวิตได้ใน 10-15 นาที ซึ่งบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.1669 มีชุดปฏิบัติการที่ผ่านการอบรมการช่วยชีวิตพื้นฐาน รวมถึงช่วยเหลือเบื้องต้นนำสิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทางเดินหายใจออกมาอย่างถูกวิธี และเลือกนำส่งโรงพยาบาลที่จะให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที” …นพ.ไพโรจน์ระบุ
“ติดคอตาย” ไม่ใช่แค่เรื่องพูดกันเล่น…อย่าประมาท
รู้วิธีแก้-รู้แหล่งขอความช่วยเหลือไว้…ไม่เสียหลาย !!.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update:13-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่