มิติใหม่ แพทย์จ่ายหนังสือแทนยาบำบัดอาการซึมเศร้า! บทบาทสำคัญของห้องสมุดชุมชนเพื่อสร้างสุขภาวะ

โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่กำลังคร่าชีวิตผู้คน เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย หลายต่อหลายกรณี ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย กว่าจะรู้ก็ถึงขั้นรุนแรง เกินควบคุม ส่งผลให้ตัดสินใจจบชีวิตลงแล้วหลายต่อหลายราย

ปี 2561 กรมสุขภาพจิต  กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้า ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 1.5 ล้านคน ข้อมูลนี้ยังไม่นับรวม กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าเด็กที่อายุ ต่ำกว่า  15 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาเก็บข้อมูลตั้งแต่อายุ 3-17 ปี พบผลที่น่าตกใจว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1 ใน 5 ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตใจ สภาวะอารมณ์ รวมไปถึงพฤติกรรม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า (Depression)

ย้ำอีกครั้งว่า ภาวะซึมเศร้า (Depression)พบได้ในเด็กที่อายุ เพียง 3 ขวบ

สภาวะแพร่ระบาดของโรคซึมเศร้าทั่วโลกขณะนี้ องค์กรอนามัยโลก หรือ  WHOพบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านคน การฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 2 ของช่วงวัย 15-29 ปี

ในทางการแพทย์ ให้คำอธิบายว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล อันส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม การเยียวยารักษาวิธีหลักจึงเป็นการใช้ยาต้านเศร้าเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้กลับมาเป็นปกติ

ปัจจุบันแม้ตัวยาได้รับการพัฒนาไปมาก แต่การใช้ยายังส่งผลข้างเคียงต่อชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความพยายามมาอย่างยาวนาน เพื่อหาวิถีทางใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วย และข้อค้นพบที่สามารถให้ผลอย่างชัดเจนได้วิธีหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าระดับต้นถึงปานกลางก็คือ “การอ่านหนังสือ”

 

หนังสือ ยาทางเลือก และยาเสริมกำลังบำบัดโรคซึมเศร้า

การอ่านทำงานอย่างไรต่อสมองของเรา เหตุใดจึงก่อให้เกิดความสุข ความตื่นตัว จนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งร่ายกายและจิตใจ

ปี 2011 Shira Gabriel และ Ariana F.Young นักวิจัยจาก University at Buffalo, state University of New York เผยถึงการทดลองจากการให้อาสาสมัครอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องพบว่า  การอ่านทำให้มนุษย์มีความสุข ปิติและพึงพอใจ เพราะสามารถเชื่อมมนุษย์เข้ากับสิ่งต่างๆ  เป็นการจำลองปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ทำให้รู้สึก ทุกข์ สุข เศร้า สมหวังได้จริง ๆ เหตุนี้เอง การอ่านจึงทำให้มีชีวิตชีวา หรือตื่นจากความสลืมสลือขึ้นมาอีกครั้ง

“ ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสังคม คือความต้องการของมนุษย์ที่เข้มข้น  เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ เราจะรู้สึกดีกับเรื่องทั่วๆ ไป และยิ่งจะรู้สึกดีกับชีวิตของตัวเอง” นักวิจัยทั้งสองกล่าว ถึงข้อสรุปของผลการศึกษาวิจัย

การอ่านทำให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่น พลังของเรื่องราวทำให้เราจินตนาการ เห็นคุณค่าของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องของตัวเราอย่างสัมผัสได้ นี่คือผลชัดเจนที่ได้จากอ่านหนังสือประเภท “วรรณกรรม”

วรรณกรรมประเภทไมใช่นิยาย (non- fiction) ทั้งหนังสือความรู้ สารคดี  ก็ให้ผลเชิงบวกเช่นกันข้อพิสูจน์นี้ชัดเจน ในปี 2003 กรณีของ นายแพทย์  นีล ฟรูด์ (Neil Frude)   จิตแพทย์คลินิกชื่อดัง แห่งประเทศอังกฤษ ที่พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่คลินิกมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้ต้องรอรับบริการยาวนาน และเมื่อถึงกำหนดพบแพทย์แล้ว ก็ยังต้องมารออยู่หน้าห้องเป็นเวลาอีกหลายชั่วโมง สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ป่วยยิ่งมีความเครียด และอาการแย่ลง “ต้องมีวิธีการที่มีพลังที่จะบำบัดผู้คนได้มากกว่านี้ ไม่ใช่แบบ 1 ต่อ 1 อย่างนี้”นายแพทย์ นีล ฟรูด์ (Neil Frude) เริ่มหาทางออก

“หนังสือสามารถเป็นคู่มือการดูแลตัวเอง ที่บอกทุกอย่างกับผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนสามารถปฏิบัติตามได้ ไม่ต่างจากหนังสือ คู่มือการทำอาหาร ผมเชื่อในพลังของหนังสือที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ  นักจิตวิทยาคลินิก เขียนจากประสบการณ์และงานวิจัยจำนวนมาก ” เขายังกล่าวอีกว่า การทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง เริ่มด้วยการสื่อสารกับ จิตแพทย์ จิตวิทยาคลินิกก่อน เลือกสรรหนังสือที่มีความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย และส่งไปยังห้องสมุดต่างๆ เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยา แทนที่ผู้ป่วยจะไปหาเภสัชกร กลับเดินเข้าห้องสมุด ใช้ใบสั่งหยิบหนังสือเล่มที่ช่วยให้เขา กลับไปเรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และฟื้นฟูชีวิตได้

“นี่เป็นวิธีการที่ลงทุนน้อย เรียบง่าย แต่มีพลังมาก มีประสิทธิภาพมาก”

โครงการ Book Prescriptionเริ่มขึ้นในตัวเมือง Cardiff ที่รัฐ Wales ในปี 2003  ด้วยความร่วมมือของ จิตแพทย์และบรรณารักษ์ แล้วโครงการเล็กๆ นี้สามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงและได้รับประโยชน์อย่างมาก พวกเขาต่างบอกต่อๆ กันว่า วิธีการนี้สามารถช่วยพวกเขาได้จริงๆ ในปี 2005 โครงการนี้เข้าตารัฐบาล ทำให้ขยายโครงการใหญ่ขึ้นด้วยการยกระดับให้ความสำคัญจนเป็นงานระดับชาติ เรียกว่า โครงการ Book PrescriptionWales ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ

ปัจจุบัน รัฐบาลจัดซื้อหนังสือที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 รายการ และจัดสรรไปยังห้องสมุดตามจุดต่างๆ  นายแพทย์นีล กล่าวว่า “ตอนนี้เรารู้แล้วว่า ผู้คนจำนวนมาก แม้จะไม่ทุกคน พวกเขาไปได้ด้วยดีกับแนวคิด การบำบัดด้วยหนังสือ (BiblioTherapy) พวกเขาได้เรียนรู้ลงไปถึงอาการต่างๆ ของตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง และรู้ที่จะเยียวยารักษาเมื่อมีอาการวิตกกังวล” นายแพทย์คนดังยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหนักขึ้นอย่างเงียบๆ การวินิจฉัยทุก 6 คน จะพบผู้ป่วยซึมเศร้า 1 ราย และเมื่อติดตามไปตลอดช่วงอายุ อาจเป็น  1 ใน 4 หรือ 3 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบที่จะดูแล ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับผลเสีย ก็จะเป็นผู้ป่วยเอง

โวฮาน เกทติ้ง (Vaughan Gething)  เลขาธิการด้านงานสุขภาพของรัฐบาลเวล์ กล่าวว่า ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการจากห้องสมุดตามจุดๆ ต่างๆ ได้แล้วถึง 778,000 คน อย่างง่ายดาย “ฉันเชื่อว่า การเข้าไปช่วยเหลือในครั้งนี้จะสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่”

The Reading Agencyองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการนี้ ไม่ได้หยุดโครงการดีๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ แต่ได้ต่อยอดขยายโครงการให้ไปถึงผู้คนกลุ่มเฉพาะมากขึ้น ในปี 2013   ได้เปิดโครงการคัดเลือกหนังสือเพื่อสร้างสุขภาวะกับกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก กล่าวคือ เพียง 2 ปี มีผู้ยืมหนังสือเพิ่มขึ้นถึง 97%  แต่ทว่าผู้ป่วยก็มีมากขึ้น 346 %  ในปี 2015 จึงขยายโครงการเข้าไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันและบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ให้สั่งสมจนถึงวัยทำงาน เรียกว่า โครงการ อ่านอย่างสุขภาวะเพื่อคนรุ่นใหม่ (The Reading Well for Young People campaign)  ที่คัดเลือกหนังสือโดย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและเยาวชน โดยหนังสือที่คัดเลือกมีทั้ง  บันทึกคู่มือการดูแลตัวเอง  สารคดี นวนิยาย  และแน่นอนว่า หนังสือในรายการนี้จะสามารถหยิบยืมมาอ่านได้โดยทั่วไปในห้องสมุด ตามจุดต่างๆ

The Reading Agency   กล่าวว่า เยาวชนของอังกฤษมีความเสี่ยงสูงที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการซึมเศร้า พวกเขามีปัจจัยเสี่ยงมากมายไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งจากความกดดันจากการเรียน การสอบ การถูกยั่วยุ เหยียดหยามในโรงเรียน  ปัจจุบันเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโรคซึมเศร้าสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 30 ปี มีเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นที่ได้รับการดูแล รักษาในโรงพยาบาล

จูโน่ ดอร์สัน (Juno Dawson)นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน และสารคดีเยาวชน กล่าวว่า  “เราต่างยอมรับว่า การดูแลด้านจิตเวช ยังไม่ดีพอ แต่ละเคสอาจต้องใช้เวลารอนัดหมอถึง 6 เดือน เพื่อที่จะเข้าไปรักษาอาการรับประทานอาหารผิดปกติ ขณะที่ต้องเจอกับอาการนี้ทุกวันๆ ฉันจึงเปี่ยมด้วยความหวังว่าหนังสือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเอง และบรรเทาอาการของตัวเองได้”

เกบี้ เคย์แมน (Gaby Clement) หนึ่ง ใน หก ของเยาวชนที่ร่วมคัดเลือกหนังสือของโครงการฯ  เล่าว่า “ผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้โดยง่ายตามจุดต่างๆ ผมคิดว่า นวนิยาย หรือหนังสือใดๆ ก็ตาม ทำงานได้ดีกับเยาวชน  เรื่องราวในหลายๆ  เรื่อง ช่วยให้เรารับมือกับสิ่งที่เราต้องข้ามไปให้ได้ มันสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ  เหมือนเป็นวิธีการที่เราจะได้รับคำแนะนำ โดยที่ไม่ต้องบอก ว่าเราต้องทำอะไร”

        เอ็มบอท  (Emybot)เยาวชนที่ผ่านวิกฤตในชีวิต ให้สัมภาษณ์กับ The guardian สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษถึงหนังสือเล่มสำคัญที่ช่วยชีวิตเขาไว้ ซึ่งเป็นหนังสือที่อยู่ในลิสต์รายชื่อของโครงการ  the Reading Well for Young People Campaignว่า “เล่มที่ผมจะแนะนำให้กับทุกคนที่กำลังรู้สึกแย่ คือ เรื่อง  The Perks of Being a Wallflower(จดหมายรักจากนายไม้ประดับ)  นี่คือหนังสือเล่มโปรดของผม มันไม่ใช่แค่ความสุข หรือความเศร้าเสียทีเดียว หลากหลายความรู้สึกที่สัมผัส ไม่เพียงทำให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ สามารถตกดิ่งลงไปและแตกสลายได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังบอกอีกว่า สิ่งที่แตกสลาย ต่างสามารถฟื้นกลับคืนมาได้ ผมรักเล่มนี้และแนะนำให้กับผู้คนเสมอๆ ”

เอ็ด เวซีย์ (Ed Vaizey)  รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของอังกฤษกล่าวว่า  “ห้องสมุดสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยบริการสุขภาวะในท้องถิ่น  ด้วยการเปิดให้เข้าถึงได้โดยง่าย ให้ข้อมูลกับทุกกลุ่มอายุ  สร้างเสริมการอ่านให้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนให้สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์และความเป็นอยู่ เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกดดันของชีวิตในสังคมปัจจุบัน”

ปัจจุบัน The Reading Agencyดำเนินโครงการเพื่อพาหนังสือเข้าไปช่วยเหลือบำบัดผู้คนอีกหลายโครงการ พร้อมกับที่หลายหน่วยงานของอังกฤษ ยังใช้หนังสือทำกิจกรรม กับผู้ต้องขังตามทัณฑสถาน เด็กพิการ เด็กกำพร้า ผู้ติดยาเสพติด  ซึ่งไม่เพียงทำให้พวกเขาได้อยู่กับหนังสืออย่างมีความสุขเท่านั้น แต่ยังพัฒนาผู้คนเหล่านี้จนกลายเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้ผู้อื่นฟัง

กลับไปที่ นายแพทย์  Neil Frude  อีกครั้ง การเริ่มต้นของเขาส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดตามมาครั้งยิ่งใหญ่ และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างมากมาย แต่ถึงกระนั้นเขากล่าวอย่างถ่อมตัวว่า

“ผมคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรใหม่  หนังสือมีอยู่แล้ว  ห้องสมุดมีอยู่แล้ว  สิ่งเหล่านี้มีอยู่มานานแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เราทำคือ เพียงเรามาร่วมมือกัน”

เพราะหนังสือก็มีอยู่แล้ว

ห้องสมุดก็มีอยู่แล้ว

เชื่อว่า สิ่งดีๆ ก็สามารถเกิดขึ้นในบ้านเราได้เช่นกัน

เพียงร่วมกัน ส่งต่อสารสำคัญนี้

ปิดเทอมนี้ ชวนเด็กๆ และครอบครัวไปห้องสมุด ไปสัมผัสหนังสือกันค่ะ

 

ลลิ จิตตสิงห์

 

อ่านประโยชน์ของหนังสือเพิ่มเติมได้ที่ :

วารสารอ่านสร้างสุข ฉบับ 13  ปลุกหัวใจหมอ ด้วยวรรณกรรม เรื่องเล่า  , ฉบับ 17  บทกวีกลางดวงใจ  และ ฉบับ 21 การอ่านมหัศจรรย์แห่งสุขภาพ-สุขชีวิต

http://www.happyreading.in.th/bookreview/index.php?t=happyreadingmag

ข้อมูลประกอบการเขียน

Shares:
QR Code :
QR Code