มิติใหม่ดึงภาคีเครือข่ายร่วมชูห้องสมุดมีชีวิตส่งเสริมอ่าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


มิติใหม่ดึงภาคีเครือข่ายร่วมชูห้องสมุดมีชีวิตส่งเสริมอ่าน thaihealth


น.ส.ปราณี สัตยประกอบ รองปลัดกทม.เป็นประธานการประชุมภาคีส่งเสริมการอ่านเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการวางแผนจัดกิจกรรมและการใช้พื้นที่ของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร โดยมี นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านของกรุง เทพมหานคร อาทิ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(TK Park) มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย


สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์ สาส์น จำกัดศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย กรมราชทัณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักหอสมุดแห่งชาติสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ(สสส.) หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรบริษัท สถาพร บุ๊ค สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ ฯลฯ


และหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมการอ่าน ร่วมประชุม ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ ที่เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นการนำต้นทุนทางปัญญาจากพลังความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้ห้องสมุดทั่วกรุงเทพฯ มีชีวิต ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงและสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0


น.ส.ปราณี กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านจากทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ประกาศให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อปี 2552 โดยกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน อีกทั้งได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็กเยาวชน และประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน อาทิกิจกรรมพี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง กิจกรรมส่งเสริมการอ่านจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอนเป็นต้น


ทั้งนี้นับเป็นความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ในการขับเคลื่อนจนกรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี 2556 ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จของพันธกิจดังกล่าว คือ การจัดสร้างหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.60 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก


โดยกรุงเทพมหานครได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมและหลากหลาย เช่น การเปิดตัวหนังสือใหม่ การจัดนิทรรศการหนังสือจากต่างแดน นิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยมีนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามาร่วมพูดคุยให้ความรู้ การเสวนาโดยนักเขียนหน้าใหม่เป็นต้น น.ส.ปราณี กล่าวต่อว่า นอกจากหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้อีก 36 แห่ง เปิดให้บริการแก่ประชาชนกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ


ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ควบคู่กับการอ่านให้เหมาะสมและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของห้องสมุด เช่น ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้คลองสามวา มีความโดดเด่นในเรื่องของการส่งเสริมการอาชีพและการท่องเที่ยว ได้จัดให้มีการให้ความรู้และฝึกอาชีพควบคู่กับการอ่าน ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ห้วยขวาง(ห้องสมุดการ์ตูน) มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กและเยาวชนโดยใช้ตัวการ์ตูนมาเป็นจุดเชื่อมโยง ห้องสมุดร่มเกล้า(ห้องสมุดสีเขียว) เป็นต้น แบบการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพ มหานครกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่างๆ เช่น 1 สำนักพิมพ์ 1 ห้องสมุดในพื้นที่ ซึ่งจะได้มีการร่วมหารือ แลกเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานร่วมกันต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code