มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

ภาพโดย สสส. และแฟ้มภาพ


มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ thaihealth


แฟ้มภาพ


และแล้ววันงดสูบบุหรี่โลกก็เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ตรงกับวันที่ 31พฤษภาคมของทุกปี ที่องค์การอนามัยโลกเป็นผู้กำหนดขึ้น เพื่อกระตุ้นเตือนให้พลโลกตระหนักถึงภัยอันเกิดจากการสูบบุหรี่         


และเพื่อเป็นการตอกย้ำให้คนไทยอย่าได้หลงลืมไปกับอันตรายจากการสูบบุหรี่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำข้อมูลถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ให้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักถึงการเกิดโรคมะเร็งที่มาจากการสูบบุหรี่ซึ่งมีมากถึง 12 ชนิด ประกอบด้วย1.มะเร็งปอด 2.มะเร็งริมฝีปาก 3.มะเร็งกล่องเสียง 4.มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 5.มะเร็งตับอ่อน 6.มะเร็งไต7.มะเร็งปากมดลูก 8.มะเร็งตับ9.มะเร็งเม็ดเลือด 10.มะเร็งหลอดอาหาร 11.มะเร็งกระเพาะอาหาร และ 12.มะเร็งลำไส้ใหญ่


มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ thaihealth


อะไรจะมากถึงขนาดนี้เชียวหรือ? มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มาฟังนักวิชาการท่านอธิบายให้ฟังกันเถอะ


รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญาอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า การเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทางง่ายที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด คือ การสูดควันเข้าสู่ปอด แต่อันที่เรามักจะมองข้าม คือ การสัมผัส เช่น คนสูบบุหรี่สิ่งหนึ่งที่ต้องสัมผัส คือ ริมฝีปากคนสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดมะเร็งริมฝีปาก และมะเร็งในช่องปากสูงกว่าคนทั่วไป บางคนเป็นมะเร็งที่ลิ้น มะเร็งเพดานปาก มะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากการสัมผัสเฉพาะที่โดยตรง ส่วนหนึ่งมาจากควันบุหรี่อีกส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีที่อยู่ตรงนั้น


มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ thaihealth


รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการดูดซึมควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายด้วย โดยควันบุหรี่ที่ฟุ้งกระจายจะวนเข้ามารีไซเคิลรอบสองผ่านผิวหนัง ซึ่งผิวหนังเราแท้จริงแล้วเป็นรูเล็กๆ ประหนึ่งเป็นตาข่ายที่มีความละเอียดมากและถี่มาก จึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีช่องให้สารเคมีมุดเข้าไปได้สบายมากพอ คนคนหนึ่งสูบบุหรี่ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ควันบุหรี่เข้าสู่ปอดตรงนั้น แต่ควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาสู่ร่างกายทางผิวหนัง อาจเข้าไปได้บ้าง บางส่วนเกาะที่ผิว จึงเป็นเรื่องของ “ควันบุหรี่มือสาม” ด้วย เพราะบางส่วนดูดซึมไม่หมดจึงตกค้างไปที่ผิว ต่อให้ไปอาบน้ำล้างตัว ใช้สบู่อย่างดี จะขัดออกหรือไม่ คำตอบคือไม่ออก ซึ่งมันติดคงทนนานมาก มีรายงานบอกว่า ติดเกินกว่า 100 ปี ถ้าเรามีอายุถึงเพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่น่ากังวลมาก


แล้วการแก้ไขป้องกันล่ะคะคุณหมอ มีไหม?


รศ.นพ.สุทัศน์ บอกว่า การแก้ปัญหา“บุหรี่มือสาม”ในบ้าน จริงๆ แล้ว คือ การเลิกสูบบุหรี่ในบ้านและรอบบ้าน ส่วนการกำจัดควันบุหรี่มือสามเป็นเรื่องยากมาก ทางเดียว คือ ต้องนำสิ่งของที่สัมผัสควันบุหรี่ไปทิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่พอไปฉาบผิวเฟอร์นิเจอร์ ผิวโซฟา หรือพื้นพรมและผ้าม่านยิ่งร้ายหนัก ต้องถอดทิ้งอย่างเดียว ซักก็ไม่ออก เพราะฉะนั้นวัสดุพื้นผิวใดที่มีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้ามีความหนาแน่นสูงก็ไม่แน่ หากทำความสะอาดหลายรอบอาจพอออกได้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด


มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ thaihealth


ควันบุหรี่มือสามที่ตกค้างอยู่ทั้งที่ร่างกายและสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนสูบบุหรี่เองและคนที่ไม่สูบบุหรี่ หนีไม่พ้นที่จะต้องสัมผัสกับสารเคมีอันเกิดขึ้นจากบุหรี่ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษและอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด คือ เด็กเล็กๆ เพราะเด็กมีโอกาสซึมซับฝุ่นละอองมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า เนื่องจากเด็กเล็กมักหายใจใกล้พื้นผิวสิ่งของต่างๆ หรือคลานเล่นตามพื้นที่มีสารพิษตกค้าง และบางครั้งเด็กอาจเลียหรือนำสิ่งของเข้าปากตามประสาเด็ก จึงเสี่ยงได้รับอนุภาคโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง และสารกัมมันตรังสี จากบุหรี่ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จึงไม่แปลกที่จะมีคนเป็นคนโรคจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสามแม้ตัวเองจะไม่ได้สูบโดยตรงก็ตาม


มารู้จักภัยของ "บุหรี่มือสาม" กันเถอะ thaihealth


ซึ่งหากดูจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2558 จะพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ทางอ้อม หรือบุหรี่มือสาม ประมาณ 600,000 คน


ในโอกาสที่วันงดสูบบุหรี่โลกเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง หากนักสูบคนใดที่รักคนในครอบครัว ห่วงใยต่อสุขภาพคนรอบข้าง บอกกับตัวเองไว้เลยว่า “อย่าสูบบุหรี่ในบ้านและรอบบ้าน” หรือ ถ้าเป็นไปได้ ก็ “ไม่สูบบุหรี่เลย” จะปลอดภัยมากกว่า         


โลกนี้จะสดใสร่างกายและจิตใจจะสุขสันต์หากทุกคนตระหนักที่จะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากโรคร้ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมามิได้หยุดได้หย่อนปัจจุบันนี้

Shares:
QR Code :
QR Code