มาตรการลดภาระทางสุขภาพ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่

 

หากอยากควบคุมปริมาณการบริโภคยาสูบของประชากรเพื่อไม่ให้เกิดภาระด้านสาธารณสุขจากการเจ็บป่วย องค์การอนามัยโลก (who) ระบุถึง มาตรการการใช้ภาษี และมาตรการทางกฎหมาย ว่าถือเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพที่สุด

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกันจัดทำศึกษาวิจัย เรื่อง “ภาระโรคและต้นทุนที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่” เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป

ในแต่ละปีประเทศไทยเกิดความสูญเสียซึ่งเกิดจากการบริโภคยาสูบจำนวนมาก โดย ทพญ. กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศอธิบายถึงผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เมื่อปี 2552 ว่า เมื่อนำความสูญเสียที่เกิดจากการบริโภคด้านต่างๆ มาคำนวณโดยดูจากค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งทางตรง ทางอ้อม การขาดงาน การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พบว่าเกิดความสูญเสียเป็นมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท และคิดเป็น 0.5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และเมื่อแยกจะพบว่า ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ยประมาณ 12 ปี และยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รัฐต้องแบกรับภาระ

การสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้ แต่พบว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5.4 ล้านคน โดยคาดประมาณว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น  6.5 ล้านคน ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 8 อันดับแรกเกิดจากการสูบบุหรี่ถึง 6 โรคด้วยกัน

เมื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย. อธิบายว่า ปัจจุบันสัดส่วนการบริโภคยาสูบในประเทศไทย แบ่งเป็น บุหรี่แบบซอง 54% และบุหรี่มวนเอง 46.5% ซึ่งมาตรการที่ใช้สำหรับควบคุมการบริโภคยาสูบ ใช้ในบุหรี่แบบซองค่อนข้างเต็มที่ คือมีการใช้ทั้งมาตรการทางภาษี การควบคุมโฆษณาส่งเสริมการขาย แต่พบว่าประเทศไทยมีการใช้บุหรี่มวนเองอีกเกือบครึ่งของประชากร แต่มาตรการเพื่อปกป้องประชาชนนั้นไม่ได้ถูกใช้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องภาษี ซึ่งเพิ่งมีการออกมาตรการภาษีบุหรี่มวนเองครั้งแรกในเดือน ส.ค. ปี 2555 ที่ผ่านมา

จากจำนวนประชากรที่ใช้บุหรี่แบบมวนเองจำนวนมาก โดยเฉพาะประชากรนอกเขตเทศบาล พบว่ามีการสูบบุหรี่มวนเองจำนวนมาก โดยพบว่าเยาวชนอายุ 15-18 ปี มีการสูบบุหรี่แบบมวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการปลูกใบยาสูบจะพบจำนวนเยาวชนสูบบุหรี่มวนเองจำนวนสูงมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะยาเส้นแบบมวนเองนั้นมีราคาถูกมาก ทำให้เยาวชนหันสูบเป็นจำนวนมาก

การแก้ปัญหาบุหรี่มวนเองนั้นจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยวิธีที่จะเกิดประสิทธิภาพที่สุด คือ การเพิ่มภาษีบุหรี่มวนเอง หรือ ยาเส้น ซึ่งต้องเน้นไปในการทำเป็นอุตสาหกรรมไม่ใช่การปลูกในครัวเรือน สามารถทำได้โดยออกพระราชกำหนด เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 เพื่อขึ้นทะเบียนยาสูบพันธุ์พื้นเมืองนำไปสู่การเก็บภาษีที่หน้าโรงงาน ซึ่งจะไม่เกิดภาระกับเกษตรกร

“การเก็บภาษีบุหรี่มวนเอง จะทำให้ราคาบุหรี่มวนเองขยับขึ้นอย่างน้อยซองละ 1 บาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้เก็บภาษีได้ปีละกว่า 800 ล้านบาท และจะช่วยลดจำนวนผู้สูบได้ประมาณ 2 แสนราย ซึ่งส่วนหนึ่งที่อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไม่ลดลงเพราะยังไม่มีมาตรการลดการบริโภคยาสูบในส่วนของบุหรี่มวนเองแต่อย่างใด ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดภาระด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน” ดร.ศิริวรรณ อธิบาย

การลดภาระทางสุขภาพและรักษาสุขภาพประชาชน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้จากการสร้างนโยบายให้มีความเข้มแข็งและใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพที่แท้จริง 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

Shares:
QR Code :
QR Code