มะเร็งปากมดลูก
ที่มา: มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
"มะเร็งปากมดลูก" คือโรคสตรีที่สามารถเฝ้าระวังได้และเป็นหนึ่งในจำนวนโรคไม่กี่โรคที่เป็นการตรวจร่างกายประจำปี มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดของมะเร็งในหญิงไทย รองลงมาคือมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกนั้นปัจจุบันพบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (human papilloma-HPV) ชนิด 16 และ 18 เป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น หญิงที่มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีสามีที่มีคู่นอนหลายคน เป็นต้นเหตุให้เกิดการรับเชื้อเอชพีวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ หรือเคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ เริม ซิฟิลิสหรือหนองใน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย เคยมีคำกล่าวว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง นอกจากเชื้อไวรัสเอชพีวีแล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ เศรษฐฐานะต่ำ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกด้วย
อาการของมะเร็งปากมดลูกมักจะพบมากที่สุด คือ อาการเลือดออกทางช่องคลอด อาจจะออกกะปริบกะปรอย มีตกขาวปนเลือด มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ในระยะท้ายจะมีอาการขาบวม ปวดก้นกบ ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว โอกาสรักษาหายจะเหลือน้อย ประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้น แต่ถ้ามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกนั้นมักจะไม่มีอาการใดๆ ถ้าสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก จะรักษาหายได้ถึงร้อยละ 70-80 ทีเดียว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแพ็ปสเมียร์ สามารถทำการตรวจได้ง่าย
การตรวจแพ็ปสเมียร์ (Pap smear) นั้น แพทย์จะเก็บเซลล์ที่ผิวจากบริเวณช่องคลอดส่วนบน บริเวณปากมดลูกด้านนอก และบริเวณปากมดลูกด้านใน แล้วป้ายลงบนแผ่นสไลด์ แช่ในน้ำยาที่เป็นกรดทันที เพื่อนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจดูว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบเซลล์ผิดปกติ ก็จะต้องสั่งตรวจด้วยกล้องส่องตรวจปากมดลูกแล้วตัดชิ้นเนื้อเล็กน้อยจากบริเวณที่มองเห็นจากกล้องว่าเป็นบริเวณที่น่าจะผิดปกติมากที่สุด ผลการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวจะสามารถบอกได้ว่าเป็นเซลล์ผิดปกติระดับใด หรือมีเซลล์ที่กลายเป็นมะเร็งแล้ว จากนั้นทำการรักษาตามที่ได้วินิจฉัย
ถ้าเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก การผ่าตัดเฉพาะปากมดลูกเป็นรูปกรวยหรือโคน (Cone shape) เป็นการผ่าตัดที่รักษาพร้อมกับการวินิจฉัยและบอกระยะของโรคไปพร้อมกัน อาจจำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออกเสีย การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวจะรักษาหายได้ถึงร้อยละ 80 ในมะเร็งระยะแรก แต่ถ้าผลเนื่องจากการผ่าตัดรูปกรวยหรือตัดมดลูกแล้วพบว่ามีการกระจายไปแล้ว จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีฉายรังสีเพื่อรักษา หรือถ้ากระจายมากขึ้นก็จะให้การรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดต่อไป
ดังนั้น การตรวจแพ็ปสเมียร์จึงมีความสำคัญมากและจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจทุก 6 เดือน ตั้งแต่หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปปัจจุบันพบมะเร็งปากมดลูกในอายุที่น้อยลง ประมาณอายุ 20 ปีขึ้นไปก็พบได้แล้ว การตรวจแพ็ปสเมียร์นั้น แพทย์จะมีการตรวจภายในร่วมกันไปด้วย โดยตรวจบริเวณมดลูกว่ามีขนาดมดลูกโตกว่าปกติ เป็นเนื้องอกมดลูกหรือไม่ คลำบริเวณข้างมดลูกทั้ง 2 ข้าง เพื่อตรวจว่าจะคลำได้ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำหรือไม่ บริเวณดังกล่าวทั้ง 2 ข้างเรียกว่า ปีกมดลูก ซึ่งประกอบด้วย รังไข่ และท่อรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ถ้าพบว่ามีความผิดปกติจากการตรวจภายใน แพทย์จะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ (เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง) การตรวจเลือดและการตรวจพิเศษอื่นๆ
ดังนั้น ขอแนะนำให้หญิงไทยหมั่นตรวจแพ็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาการเลือดออกผิดปกติหรือตกขาวผิดปกติจากช่องคลอด และมีการจดบันทึกประจำเดือนและการคุมกำเนิดให้เป็นนิสัย เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคมะเร็งและความผิดปกติอื่นในอุ้งเชิงกรานได้แต่เนิ่นๆ