มอเตอร์ไซค์-ทุกข์ของพ่อแม่
สสส.ลดอุบัติเหตุทางถนนคร่าเยาวชน
เพราะในแต่ละปีสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุตรงกันกับรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินว่า กลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์สูงสุดเพราะเป็นกลุ่มที่ยังขาดประสบการณ์และวุฒิภาวะในการตัดสินใจ
ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เยาวชนกลุ่มหนึ่งใน โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้จัดตั้ง กลุ่มผู้นำความปลอดภัยขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนในโรงเรียนหันมาขับขี่จักรยานยนต์อย่างปลอดภัย
โดยการผลักดันของ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เปรม ดิลกศรี นักเรียนชั้นม.5 ประธานผู้นำความปลอดภัย กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเข้าร่วมโครงการตนเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ชอยขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วและแรง จนกระทั่งมาร่วมโครงการกับอาจารย์ปนัดดา ทำให้ได้เรียนรู้อันตรายของการขับขี่ไม่ปลอดภัยจึงไม่ขี่รถเร็วเหมือนแต่ก่อน และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง
น้องเปรมเล่าว่า นอกจากจะรณรงค์เชิญชวนให้เพื่อนนักเรียนอื่นๆ หันมาตระหนักถึงอันตรายแล้วตนยังได้รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้ปกครองด้วย เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกหลานขับขี่ เพราะผู้ปกครองมักไม่ค่อยคำนึงถึง ว่าการซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูก 1 คัน จะเกิดความสูญเสียอะไรต่อลูกบ้าง
ด้วยปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะในแถบต่างจังหวัดไม่เอื้ออำนวยให้เด็กนักเรียนเดินทางไปโรงเรียนได้อย่างสะดวกสบาย แถมต้องจ่ายค่ารถโดยสารที่มีราคาแพงในทุกๆ วัน
รถจักรยานยนต์จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นปัจจุบันสนับสนุนการดำเนินวิถีชีวิตให้ง่ายขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับว่า หลายครั้งกลับแลกมาด้วยความสูญเสียที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง
จากรายงานวิจัยที่ทางกลุ่มเยาวชนผู้นำความปลอดภัยร่วมกันทำขึ้น พบว่ารถจักรยานยนต์หนึ่งคันเป็นเครื่องมือเปิดโลกของเยาวชนให้ก้าวไปสู่โลกแห่งความรุนแรงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปสู่สังคมใหม่ที่มีเพื่อนขับขี่ด้วยกัน เยาวชนจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ชักชวนกันแต่งรถให้แรง เพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามแข่งกันขับรถเร็ว ซิ่งเพื่อความตื่นเต้นและขับขี่ผาดโผนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ง่ายต่อการถูกชักจูงเข้าสู่สังคมยาเสพติดและอาชญากรรม ยังไม่รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
“รถมอเตอร์ไซค์ที่พ่อแม่ซื้อให้ จึงอาจกลายเป็นทุกข์และน้ำตารวมถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ จึงอยากให้ผู้ปกครองคิดซักนิด ก่อนตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ให้กับลูก”
ในส่วนของโรงเรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีบทบาทในการป้องกัน การรณรงค์ของเยาวชนผู้นำความปลอดภัยได้รับการสนับสนุนจาก คุณครูอำนาจ ภักดีเสน่หา ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เล็งเห็นความสำคัญมาโดยตลอด
คุณครูอำนาจกล่าวว่า เคยมีเด็กนักเรียนของโรงเรียนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ 2 ราย ทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ปกครอง ตนได้บอกกับผู้ปกครองเสมอว่า หากไม่จำเป็นอย่าซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกใช้ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ร่างระเบียบของโรงเรียนออกเป็นประกาศเรื่องการใช้รถจักรยานยนต์ว่า 1. หากนักเรียนจะขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ผู้ปกครองจะต้องติดต่อขออนุญาตกับทางโรงเรียนก่อน 2. นักเรียนจะต้องพกใบขับขี่และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 3. ห้ามมีการตกแต่ง ดัดแปลงหรือตกแต่งสภาพรถจนผิดกฎหมาย และ 4. จะต้องจอดในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น
หลังจากออกประกาศดังกล่าว พบว่า นักเรียนที่ขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรยนมีจำนวนลดลง หากไม่จำเป็นจริงๆ ผู้ปกครองจะไม่ซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกหลานใช้ และสนับสนุนให้นักเรียนใช้รถสาธารณะที่มีความปลอดภัยมากกว่า
“หากไม่ใช้รถจักรยานยนต์ก็ต้องมีระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยมารองรับการเดินทางซึ่งการแก้ปัญหาภาครัฐจะต้องจัดและปรับปรุงระบบบริการรถโดยสารสาธารณะใหม่ให้มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น” คุณครูอำนาจสรุปในตอนท้ายถึงการแก้ปัญหานี้ในส่วนภาครัฐ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
update: 05-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ