มอบ “รถเข็นนั่งมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” ให้คนพิการ

ที่มา: กรมสุขภาพจิต


มอบ “รถเข็นนั่งมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” ให้คนพิการ thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรมสุขภาพจิตร่วมมือกับแพทยสภา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทาน  ในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รวม 175 รายการ ให้แก่คนพิการใน จ.สงขลา ประกอบด้วยรถเข็นนั่งที่ปรับขนาดให้พอดีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 75 คัน และอุปกรณ์การแพทย์อีก 100 รายการ อาทิ อุปกรณ์ฝึกยืน มูลค่า 2.4 ล้านกว่าบาท  เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตดี เข้าถึงบริการต่างๆดีขึ้น 


          นายแพทย์สมัย  ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  พร้อมด้วย นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางสุนันท์ ศรีวิรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เลขาธิการแพทยสภา ที่ปรึกษาแพทยสภา มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีจากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ให้แก่คนพิการในจังหวัดสงขลา รวมจำนวน 175 รายการ ประกอบด้วยรถเข็นนั่ง 75 คัน อุปกรณ์การแพทย์อีก 100 รายการ อาทิ อุปกรณ์ฝึกยืน เครื่องช่วยพยุงเดินสำหรับช่วยเด็กพิการทางสมองและคนพิการทางการเคลื่อนไหว เช่น แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคมและเศรษฐกิจ มีคุณภาพชีวิตดี เข้าถึงบริการต่างๆในสังคมได้อย่าง  มีศักดิ์ศรีช่วยลดภาระผู้ดูแล โดยอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดได้รับบริจาคมาจากองค์กร    การกุศลจากต่างประเทศอาทิญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา มูลค่า 2.4 ล้านกว่าบาท


          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนพิการที่ได้รับมอบรถเข็นนั่งในวันนี้ อยู่ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ เมืองสิงหนคร  รัตภูมิ  จะนะ กระแสสินธุ์ เทพา สะบ้าย้อย สะเดา และหาดใหญ่ มีทั้งหมด 68 คน ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ จำนวน 24 คน ส่วนใหญ่พิการจากโรคสมองพิการ ( Cerebral palsy) ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะบกพร่อง ผิดปกติ เช่น ขาลีบ แขนขาเกร็ง ที่เหลือเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โดยมีทีมอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการจัดทำรถเข็นนั่งคนพิการโดยเฉพาะ จะดำเนินการตรวจประเมินสภาพความพิการรายบุคคล และดัดแปลงแก้ไขรถเข็นนั่งให้มีขนาดพอดีเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้ใช้ได้อย่างสะดวกสบาย        มีความปลอดภัยที่สุด  มีเบาะรองนั่ง ช่วยลดแรงกดของน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงเกิดแผลกดทับ ที่มักจะเกิดที่บริเวณปุ่มกระดูกสะโพก กระดูกก้นกบ  ซึ่งทีมอาสาฯจะฝึกสอนด้านการใช้งานทั้งผู้ใช้และผู้ดูแลให้ด้วย โดยเฉพาะการเคลื่อนผ่านพื้นที่ที่เป็นอุปสรรค เช่น ลาดชัน  มีหลุมขรุขระ เป็นต้น 


          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า  โดยทั่วไปกลุ่มคนที่มีความพิการ จะมีความสุขน้อยกว่าประชาชนปกติทั่วไป  เนื่องจากความยากลำบากในเรื่องสุขภาพ ความบกพร่องที่เกิดความพิการ  การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อ  สภาพจิตใจที่ลดลง ผลการสำรวจความสุขครั้งล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ  ซึ่งมีค่าคะแนนเต็ม 45 คะแนน พบว่าในผู้ที่พิการมีค่าคะแนนความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 คะแนน  คนทั่วไปที่ไม่พิการมีเฉลี่ย 34.06 คะแนน  โดยผู้พิการมีค่าคะแนนความสุขอยู่ในระดับต่ำ คือต่ำกว่า 24 คะแนนมากถึงร้อยละ 21.6 ขณะที่คนที่ไม่พิการมีเพียงร้อยละ 9.4 และมีค่าคะแนนความสุขอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าคนทั่วไปพบเพียงร้อยละ 29 ขณะที่กลุ่มไม่พิการพบมากถึงร้อยละ 43 จึงมั่นใจว่าหากผู้พิการได้รับการช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เพื่อตอบสนองและส่งเสริมความสามารถในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น  จะช่วยสร้างความสุขให้ผู้พิการตามไปด้วย


ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตโดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็กพิการทางสมองหรือมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ได้มอบอุปกรณ์ช่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่พิการทางการเคลื่อนไหว ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี  ได้มอบไปแล้ว 23,000 คน จากการติดตามผล พบว่าผู้พิการร้อยละ98 มีความพึงพอใจในระดับมาก ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมาก ในส่วนของญาติที่ดูแลพบว่าช่วยผ่อนเบาภาระได้มากถึง ร้อยละ 98  ในเดือนหน้านี้จะมอบที่จ.นราธิวาส และจะให้บริการซ่อมแซมรถเข็นนั่งและอุปกรณ์ช่วยผู้พิการที่ชำรุดด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ