มอบรางวัล 155 นายอำเภอนักรณรงค์งดเหล้า
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
ก.มหาดไทย โดยกรมการปกครอง เครือข่ายงดเหล้า และสสส. มอบรางวัล 155 นายอำเภอนักรณรงค์และเปิดตัวพื้นที่อำเภอรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมกระบวนการ ชวน ช่วย เชียร์ ส่งกำลังใจให้คนงดเหล้าให้ครบพรรษา..หวัง!! ลดนักดื่มหน้าเก่า ป้องกันหน้าใหม่ และลดการสูญูเสียสุขภาวะจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 12 ในเพศหญิง
วันนี้ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 น. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเชิดชูเกียรตินายอำเภอรณรงค์งดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง ปี 2561 และเปิดตัวโครงการ 155 นายอำเภอชวนงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2561 โดยได้รับเกียรติจากนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบรางวัล ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างนายอำเภอ และประชาคมงดเหล้าจังหวัดในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีตามนโยบายลดอบายมุขสร้างสุขให้สังคมโดยนายอำเภอจะได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ ภาคเอกชน ฝ่ายศาสนา โดยเฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในการร่วมกัน ชวน ช่วย เชียร์ประชาชนในพื้นที่ให้ตั้งใจลด ละ เลิกในโอกาสเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งในบางแห่งอาจจะสามารถทำข้อตกลงร่วมของชุมชน เป็นมติของชุมชนจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่อยากเลิกเหล้าได้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่ายินดีและขอชื่นชม การดำเนินการจากนายอำเภอนักรณรงค์งดเหล้า-ลดปัจจัยเสี่ยง ที่บูรณาการงานยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ ได้แก่ การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา สู่ครบพรรษา รณรงค์งดเหล้าในงานศพ งานบุญปลอดเหล้า รณรงค์ในสถานศึกษา ในชุมชน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งในระดับตำบล อำเภอ สู่จังหวัดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นนโยบายสาธารณะ สร้างพื้นที่ต้นแบบปลอดเหล้า-ลดปัจจัยเสี่ยงได้
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแด่นายอำเภอนักรณรงค์งดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยงและเปิดตัวโครงการ 155 นายอำเภอชวนงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2561 ซึ่งเตรียมการรณรงค์ลด ละ เลิก พฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ชุมชนคนสู้เหล้า โดยใช้โอกาสงดเหล้าเข้าพรรษาและรณรงค์งดเหล้าตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการปรับจัดสภาพแวดล้อมระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เอื้อให้เกิดการงดขาย งดเลี้ยง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งจัดระบบ ชวน ช่วย เชียร์ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยบริการสาธสารณสุข ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดย 2 ครั้งที่ผ่านมามีนายอำเภอได้รับการยกย่องมาแล้วจำนวน 300 ท่าน โดยในปีนี้ มีอำเภอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 155 อำเภอ จาก 69 จังหวัด ทั้งนี้ เครือข่ายงดเหล้า มั่นใจว่า การที่ผู้นำระดับอำเภอได้เป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำในการรณรงค์ จะช่วยทำให้ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีแรงจูงใจในการลดละเลิกมากขึ้น
นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร อดีตนายอำเภอนักรณรงค์เมื่อปี 2557 ได้กล่าวให้กำลังใจนายอำเภอในครั้งนี้ พร้อมกับเปิดเผยว่า “หลังจากได้รับรางวัลได้ทำงานรณรงค์จนมาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังทำต่อเนื่อง โดยงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มีประโยชน์หลายด้าน ต้องให้ความสำคัญแม้จะจัดให้อยู่ในภารกิจของงานด้านสุขภาพของสาธารณสุข แต่เห็นว่าสอดคล้องกับงานในวาระขับเคลื่อน 4 ดี (คนดี สุขภาพดี การศึกษาดี และรายได้ดี) จังหวัดยโสธร ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ดูแลวาระคนดี และสุขภาพดี ดังนั้น จึงได้ประสานประชาคมงดเหล้าจังหวัดมาร่วมออกแบบและวางแผนงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาและวาระงานบุญเมืองยศ งานศพปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ ปลอดการพนัน เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้ไปพร้อมๆกัน โดยจะมีเวทีมอบนโยบายให้ทั้ง 9 อำเภอในวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เพื่อดำเนินการรณรงค์งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัดและประชาคมงดเหล้าจังหวัด” ดังนั้น นายอำเภอแต่ละท่านที่มารับรางวัลครั้งนี้ สามารถประยุกต์ใช้นโยบายของจังหวัด หรือมีแนวทางรณรงค์ของตนเองได้โดยเน้นความร่วมมือกับฝ่ายศาสนา ฝ่ายสาธารณสุข กำนันผู้ใหญ่บ้านและท้องถิ่น โดยนายอำเภอทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามสนับสนุนจะช่วยให้หน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคแอลกอฮอล์ว่า องค์การอนามัยโลก ทำการศึกษาพบว่า แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมากกว่า 200 โรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย แอลกอฮอล์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 26,000 คนต่อปี นอกจากนี้ข้อมูล ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จากการศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2557 ชี้สาเหตุหลักของการสูญูเสียปีสุขภาวะจากการบกพร่องทางสุขภาพ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 12 ในเพศหญิง ทั้งนี้จากข้อมูลในการเก็บภาษีของรัฐ ได้มีการคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ คิดเป็น 1 : 2 คือ รัฐได้ 1 บาท แต่รัฐต้องจ่าย 2 บาท จากค่าความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาแอลกอฮอล์ ดังนั้น การรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีความสำคัญในการลดปัญหาในสังคม