มอบกำลังใจ หนุนบทบาทสตรีไทย
กว่าร้อยปีที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการ ทุกคนจึงได้ตระหนังถึงความสามารถ สิทธิที่เท่าเทียมกันในทุกเพศ
โดยสำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ก็ไม่พลาดที่จะสนับสนุนบทบาทสตรีไทยให้เข้มแข็งขึ้นด้วยเช่นกัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดงานแถลงข่าว “วันสตรีสากลประจำปี 2556” ขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 25 พร้อมการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลเครือข่ายดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว และพูดคุยถึงบทบาทสตรีไทยในปัจจุบัน ที่บริเวณห้องปรินซ์บอลรูม 1 โรงแรมปรินซ์พาเลช เมื่อวันก่อน
สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า วันสตรีสากลแต่ละปีนานาประเทศได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองบทบาทความก้าวหน้าของสตรี ในขณะเดียวกันยังเป็นการทบทวน การดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายของหน่วยงานและเครื่อข่ายต่างๆ ด้วย
“ประเทศไทยยังคงต้องมีการเพิ่มบทบาทสตรี ในด้านการเมืองการบริหาร ให้มีจำนวนเท่าเทียมกับผู้ชาย และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เน้นการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาอาชีพของสตรีให้มากขึ้น นอกจากสตรีแล้วยังมีเรื่องที่ต้องการให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ การให้กำลังใจสุภาพบุรุษที่มีส่วนเสริมสร้างความเสมอภาคของหญิงชายในสังคมไทย ในการทำงานรณรงค์ลดการก่อความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย” เจ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าว
ภายในงานมีการพูดคุยถึงความรู้สึกของผู้ได้รับรางวัล จากการทำงานพัฒนาบทบาทสตรี โดย เพทาย ปทุมจันทรัตน์ ประธานชุมชนแสนสุข เขตดินแดน กรุงเทพมหานคร ผู้ได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี กล่าวว่า ผู้หญิงยุคสังคมใหม่มีความฉลาด มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น แต่ก็เริ่มยึดติดอยู่กับสังคมตัวใครตัวมันมากขึ้นด้วย จึงขาดช่วงของคนที่มาช่วยแก้ไข และผลักดันปัญหาหญิงชาย ความไม่ทัดเทียมต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งที่ภาระหน้าที่ของการดูแลสังคมเป็นของทุกคน หากรอการแก้ไขจากภาครัฐอย่างเดียว แต่ตัวเองไม่ได้มีส่วนช่วย การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ ดังนั้นขอให้คิดว่าสังคมเป็นของทุกคน ต้องช่วยกันแก้ไข ลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง และสังคมตามบทบาทหน้าที่ที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด
ด้าน ประทิน เวคะวากยานนท์ สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิ์ของตัวเองเล่าว่า ที่ชุมชนมีปัญหาการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรม เป็นจุดเริ่มต้นที่พยายามปลุกกำลังคนในชุมชน ให้ช่วยกันเรียกร้องสิทธิของตัวเองขึ้นมา แม้จะเป็นผู้หญิงที่ดูไกลกับเรื่องกฎหมาย และการปกครองแต่ถ้าหยิบความตั้งใจ นำข้อดีของผู้หญิงมาช่วยเจรจาให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ช่วยกันชักจูงมือหญิงชายให้ร่วมกันแก้ปัญหา เชื่อว่าจะเกิดพลังความสำเร็จขึ้นในที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก