มองอดีตผ่านข้อมูล เพื่อการออกแบบอนาคต

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


มองอดีตผ่านข้อมูล เพื่อการออกแบบอนาคต thaihealth


ในยุคสังคมเทคโนโลยี การทำงานบนฐานข้อมูลนับเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารและพัฒนาประเทศ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนทิศทางและการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ


เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานขับเคลื่อนสังคมดัวยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันจัดเวทีวิชาการ "วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล: เจาะข้อมูล จูนความคิด แจ้งวิกฤติ จุดติดทุกโอกาส" โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การเรียนรู้กลับทางในสังคมดิจิทัล" ว่า เป้าหมายประเทศไทย 4.0 จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการใช้ข้อมูล โดยในบางส่วนของสังคมไทยมีการใช้ข้อมูลที่ดี แต่ในระดับประชาสังคมการใช้ข้อมูลยังคงไม่มีประสิทธิภาพ หากมีไว้แล้วไม่นำมาปรับใช้ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าสามารถนำมาปรับใช้ได้ก็จะมีประโยชน์มหาศาล


มองอดีตผ่านข้อมูล เพื่อการออกแบบอนาคต thaihealth


"การใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาระดับต่างๆ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญคือ การเรียนรู้ร่วมกันของคน การเรียนรู้ที่ดีต้องสร้างความรู้ขึ้นเอง มาจากการปฏิบัติลงมือทำ และรู้จักสังเกตเก็บข้อมูล นำข้อมูลจากการสังเกตเอามาไตร่ตรองสะท้อนความคิดร่วมกับผู้อื่น จนเกิดเป็นความรู้ที่มองได้หลายแง่มุม ความรู้เก่าผนวกกับความรู้ใหม่จนเกิดความรู้ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หรือที่เรียกว่า Transformative Learning ดังนั้นข้อมูลจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้" ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว


ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยยุค 4.0 ยุคที่เน้นการส่งต่อข้อมูลผ่านดิจิทัล ทำให้ข้อมูลเข้าถึงคนไทยได้ง่าย แต่การจะดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้อย่างถูกต้องเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราส่งต่อข้อมูลได้ง่าย ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงปะปนอยู่ด้วย สสส.และมูลนิธินโยบายสุขภาวะจึงพยายามรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการทำงานของตนเอง และขยายไปถึงการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นรู้จักการนำข้อมูลมาสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เวทีนี้จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่แสดงถึงตัวอย่างการใช้ข้อมูลที่น่าสนใจ หากเราสามารถนำข้อมูลเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมการตัดสินใจของคนไทยจะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อเราให้ความสำคัญกับข้อมูลจะทำให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น


มองอดีตผ่านข้อมูล เพื่อการออกแบบอนาคต thaihealth


ขณะที่ นายอาจิณ จิรชีพพัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนว่า เราอยู่ในยุคของการแข่งขัน การใช้ข้อมูลให้ได้เปรียบในการแข่งขันจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะคนที่มีข้อมูลที่ดี การวางแผนการใช้ข้อมูลก็จะดีเช่นกัน ยุคนี้จึงเป็นการแข่งขันของประเทศที่ดีกว่าคือประเทศที่มีข้อมูลดีกว่า ซึ่งการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมีจุดเด่นคือ หากมีการบูรณาการระหว่างข้อมูลร่วมกันได้ก็ยิ่งจะได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น


ตัวอย่างการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ข้อมูลว่า การใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจที่ฐานราก ปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเกษตรใน 2 ทศวรรษ และปัจจัยสร้างสุขสำหรับสังคมสูงวัย เป็นต้น แล้วเราจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาอย่างไรนั้น มองว่าการวิเคราะห์ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างเช่น เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในกลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ การพัฒนาจึงต้องเน้นไปที่คนกลุ่มดังกล่าว หากเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรายได้น้อยได้ ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มให้วิถีชีวิตคนไทยอยู่ดีมีสุขได้ทุกระดับ


มองอดีตผ่านข้อมูล เพื่อการออกแบบอนาคต thaihealth


ดร.เดชรัต มองว่าเรื่องของปัจจัยสร้างสุขสำหรับสังคมผู้สูงวัยก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า รายได้เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเราในอนาคต การปลูกฝังเรื่องของการออมตั้งแต่เด็กจึงเป็นคำตอบสำคัญสำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญและอยู่ในอันดับหนึ่งของการประเมินความสุขของผู้สูงอายุ คือ สุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ สสส.ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสุขภาพที่ดีเป็นรากฐานของการมีชีวิตที่ดี ดังคำกล่าวของอาเทอร์ โชเพนเฮาเออร์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่กล่าวว่า 'Health is not  everything, but everything is nothing' สุขภาพแน่ล่ะมันไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่ปราศจากสุขภาพทุกสิ่งก็ไม่มีความหมาย


"ผลสำรวจข้อมูลทั้งหมดที่ทางเจ้าหน้าที่ร่วมจัดทำแม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แต่ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาสังเคราะห์ให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถชี้เป้าสู่การวางแผนเพื่อแก้ไขและพัฒนาไปอย่างมีทิศทางได้ในทุกระดับ" ดร.เดชรัตทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code