มองมุมดีสร้างสังคมน่าอยู่

Positive Thinking

 

          ความสนใจของคนในสังคมไทยห้วงระยะนี้ เกือบร้อยทั้งร้อยน่าจะพุ่งตรงไปบนถนนการเมืองว่าด้วยข้อมูลข่าวสารในคดี “ยึดทรัพย์” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เพราะมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างหนาหูหนาตาว่า

 

          ประเทศไทยอาจจะเจอจุดเปลี่ยนจากกรณีนี้!!!

 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ค่อนข้างเห็นต่าง คิดไม่เหมือนกันครับ…

 

มองมุมดีสร้างสังคมน่าอยู่

          ผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะอยู่หรือไปไม่ใช่เพราะคนๆ เดียวฉะนั้น..ทำไมหนอ??? สังคมไทยจะไปให้คุณค่าน้ำหนักอะไรหนักหนา กับคนๆ หนึ่ง ทั้งๆที่คนๆ นั้นแสดงออกอย่างชัดแจ้งโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าสุขภาวะของคนไทยทั้งประเทศ

 

          จะตั้งข้อสังเกตว่า เริ่มต้นสัปดาห์นี้ ผมนอกเรื่องเสียแล้ว…ยอมรับครับ! ถึงแม้ไม่ใช่(นอกเรื่อง) แต่ก็ใกล้เคียง เพราะในความนอกเรื่องผมอยากจะโยงใยว่า มีประเด็นที่คล้ายคลึงกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลกครับ

 

          นั่นคือ..สังคมไทยต้องเรียนรู้ เปิดมิติมุมมองใหม่ว่า ความขัดแย้งทางความคิดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจสามารถแปลงให้กลายเป็นโอกาสได้ หากช่วยกัน “คิดบวก”

 

          Positive Thinking การคิดบวก กลายเป็นศาสตร์ใหม่ที่แทรกอยู่ในองค์ความรู้ทุกเรื่องในโลกปัจจุบัน แม้ว่าเป็นเรื่องเก่าที่มีมานานแล้ว รวมทั้งในพุทธวจนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจที่จะนำมาเผยแพร่และเผยแพร่อย่างเป็นทางการและใช้วิชาการเข้าไปสนับสนุน

 

          การคิดบวกก็คือการคิดดีทำดีตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังนั้น เราจึงไม่ต้องดูอื่นไกล เสียเวลา หากเรามองว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนถึงกล่าวกันว่า 26 กุมภาพันธ์ 2553 ประเทศไทยจะรอดไหมนั้น มันคือบริบทของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้นเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยที่พร้อมก้าวกระโดดสู่วิถีในแบบเดียวกับโลกพัฒนาแล้ว อีกทั้งจะเป็นอีกตัวอย่างที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วก็ต้องชดใช้..ลองสวมแว่น “คิดบวก” มองบ้าง เป็นไปได้อย่างสูงครับว่า ความกังวลทั้งหลายน่าจะคลี่คลายลงไม่มากก็น้อยและยิ่งจะเร่งวันเวลาให้ถึงวันพิพากษาคดีเร็วๆ

 

          เฉกเช่นเดียวกับประเด็นที่ผมขึ้นหัวเรื่องไว้นั่นแหละ!

 

          ผมอยากจะบอกว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์มาบตาพุดทำไมถึงเลือกมองมุมเดียว มุมที่มีแต่ความเดือนร้อนไม่สบายหูสบายตาให้น้ำหนักแต่ประเด็นความเสียหายต่อการลงทุนในประเทศทำให้คนตกงานบ้าง ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบบ้าง

 

          ถ้ารู้จักคิดบวก ผลกระทบจากเหตุการณ์มาบตาพุด คือบทเรียนใหญ่สร้างความกระตือรือร้น กระตุ้นความสนใจของทุกฝ่ายต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับโรงงานอุตสาหกรรม

 

          ถ้าลองมองมุมดี ทำไมเราจะไม่ขอบใจ ที่ชาวมาบตาพุดได้ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดนโยบายของชุมชนจนเป็นแบบอย่าง และเป็นตัวสะกิดให้รัฐได้ตระหนักถึงความชัดเจนในการกำหนดนโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ..จริงไหม

 

          ถ้าคิดมุมดี เราก็จะสามารถแก้ไขมุมเสียให้เป็นเรื่องสร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุด ทำให้เราได้มีโอกาสกลับไปค้นหาที่มาต้นเหตุที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศต้องตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในปัจจุบันนี้

 

          แต่ผมเชื่อว่า อนาคตมันต้องมีแต่ดีกับยอดเยี่ยมครับ

 

          เพราะเหตุการณ์ที่มาบตาพุดสร้างจุดเปลี่ยนของปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยไงครับ

 

          อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มเคลื่อนไหวแล้วครับว่า เราควรจะต้องมีพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

 

          หลังจากที่เรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2518 จนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ไกลไปเกินกว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าของโรงงานหรือธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดทิศทาง ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็เชื่ออย่างเต็มเปาว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 17-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ