มองตัวเอง ผ่าน “แสงแห่งความหวัง”

 

ประสบการณ์จาก “แสงแห่งความหวัง” สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่เพิ่งเคยร่วมฟังการแบ่งปันมุมคิดหลังทำกิจกรรม นึกไปว่าสิ่งที่ได้น่าจะรวมกันยาก ด้วยบรรดาเยาวชนที่เข้าร่วมล้วนต่างที่มา ทั้งด้านถิ่นอาศัย การศึกษา กระทั่งเรื่องศาสนา

พอทอดเวลาไปสักพักความคิดข้างต้นเริ่มถูกทบทวน สังเกตสีหน้าท่าทางของนักเรียนที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรืออิสลามดูแล้ว แทบไม่ต่างกัน มากกว่านั้นบางช่วงจังหวะที่เพื่อนคนใดลุกขึ้นพูด มีไม่น้อยที่ทุกคนต่างปรบมือลั่น ราวกับเป็นสัญญาณเอกฉันท์ว่าในคำสอนทุกองค์ศาสดามี “จุดร่วม” ที่ทุกคน

ครูปุ๊-วนิดา ลอยชื่น ซึ่งผ่านประสบการณ์สอนในโรงเรียนคริสต์ อธิบายถึงขั้นตอนกิจกรรมนี้ว่า เป็นการบอกเรื่องราว-ความรู้สึกในมุมของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ “กลับสู่ต้นน้ำ” ของเครือข่ายพุทธิกา ร่วมกับ สสส.เพื่อให้เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรม ที่มีทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ได้รับฟังมุมมองระหว่างกัน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดที่เชื่อมโยงถึงพื้นฐานทางศาสนาของตัวเอง ก่อนจะให้วิทยากรที่มีทั้งพระอาจารย์ ครู หรือนักบวชจากทุกศาสนาชวนตั้งคำถาม พร้อมขมวดปมประเด็นให้กลับไปคิดต่อ สู่หนทางการปฏิบัติจริง

โครงการนี้ต้องการให้เยาวชนหลายศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ได้ร่วมทำกิจกรรม ให้เยาวชนเข้าใจถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เสมือนการย้อนรอยของศาสดาของแต่ละศาสนา กลับสู่แก่นแท้ของศาสนาตัวเองจากชีวิตจริง เป็น 1 ในโครงการที่มีเนื้อหาการสร้างความสุขแท้ทางปัญญา ที่หวังเห็นสังคมมีสุขภาวะทางปัญญา ได้แก่ การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค การรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล และเป็นประโยชน์เกื้อกูล

“กลับสู่ต้นน้ำเป็นการนำศาสนิกในศาสนาต่างๆ กลับไปหาศาสดาในศาสนาของศาสนิกผู้นั้นนับถือ โดยชี้แนวทางสั่งสอนให้เยาวชนรู้จักปฏิบัติตาม ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขที่แท้จริงในสังคมที่เต็มไปด้วยการบริโภค และใฝ่หาความสุขทางวัตถุ ซึ่งศาสนาก็เปรียบเสมือนต้นน้ำที่ให้กำเนิดสายน้ำที่ให้ความสุข และสดชื่นกับมวลมนุษย์ การกลับสู่ต้นน้ำก็คือพาเขาไปสู่คำสอนนั่นเอง” ครูปุ๊ว่า

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการเพาะบ่มเอง จำเป็นต้องมีบริบท เพื่อเป็นแบบฝึกหัดให้เยาวชนสร้างทักษะการขบคิด โดยการรวมตัวในครั้งนี้ ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “แสงแห่งความหวัง” ซึ่งคือการชักชวนเยาวชนในโครงการไปร่วมบำเพ็ญประโยชน์ทำความดี ร่วมมอบแสงความหวังให้ผู้อื่น พร้อมกับที่ที่พิจารณาตัวเองไปพร้อมๆ กัน

เริ่มจากการไปเยี่ยมเยียน และทำกิจกรรมกับเด็กในสถานสงเคราะห์บ้านเทวา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วยการให้เยาวชนที่ร่วม “แสงแห่งความหวัง” เปิดห้องเรียนการทำสมุดทำมืออย่างง่ายๆ และเปิดโอกาสให้เด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส ได้สะท้อนเรื่องราวในชีวิต และทักษะศิลปะผ่านการทำสมุด โดยที่ทุกผลงานจะถูกใช้เป็นของที่ระลึกสำหรับเทศกาลขึ้นปีใหม่

แจน-อรุณี ไพรเจริญสุข นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ บอกประสบการณ์ในมุมมองของผู้ที่นับถือคริสต์ว่า สิ่งแรกเมื่อก้าวเข้าสู่บ้านเทวาฯ คือความสงสาร เพราะเด็กเหล่านั้นถ้าไม่พิการ ก็ไม่มีโอกาสเทียบเท่ากว่าเด็กส่วนใหญ่ ทำให้ได้นำมาเปรียบเทียบกับตัวเองที่มีโอกาสดีกว่า มีความพร้อมมากกว่า ดังนั้น จึงต้องใช้สิ่งที่เห็นเหล่านี้ เปลี่ยนเป็นความไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากที่จะอาจเกิดขึ้นในอนาคต

“น้องๆ บางคนกำพร้าพ่อแม่ แต่เขายังสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ พยายามสร้างรอยยิ้มที่จะมีความสุข และแค่ทำสมุดเล็กๆ แต่เขาก็มีความสุขที่จะนำผลงานนั้นไปให้กับคนที่เขารัก ภาพตรงนี้ทำให้ต้องกลับมามองตัวเองที่มีพร้อมกว่า และไม่ได้ยากลำบาก ว่าได้ทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับสังคม และช่วยเหลือคนที่มีน้อยกว่าเราแค่ไหน” แจนแสดงความเห็นไม่ต่างจากเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ส่วนประสบการณ์อีกด้าน ได้นำเยาวชนเข้าไปสัมผัสชีวิตบ้านผู้สูงอายุ “บ้านแห่งความหวัง” ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน โดยภาพที่พวกเขาเห็นนั้นคือวงจรชีวิตการเกิด แก่ เจ็บ ที่คงไม่มีใครหนีพ้นไปได้ ทว่า ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนล้วนเห็นคุณค่าของการมีอยู่ ผ่านการใช้วันเวลาให้มีความหมาย

อ้อย-จิราพร เสน่ห์หา นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนระดิ่งหินประชาสรรค์ จ.นนทบุรี บอกกับเพื่อนๆ ว่า การเข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านผู้สูงอายุ ทำให้นึกถึงญาติผู้ใหญ่ที่เคยบีบนวด เธอสังเกตเห็นว่าแววตาผู้สูงอายุบางคนเหงา เหมือนอยากจะกลับบ้านมากกว่า ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้ คือการตอกย้ำถึงการตอบแทนผู้มีพระคุณ พร้อมตั้งใจทำหน้าที่ของการเป็นลูกหลานที่ดี แบบที่คนไทยพุทธปลูกฝังกันมา

ขณะที่ บังเลาะห์-ฮัสบุลเลาะห์ อีซอ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนท่าอิฐศึกษา จ.นนทบุรี ที่พื้นเพครอบครัวอยู่ที่ จ.นราธิวาส เล่าผ่านมุมมองศาสนาอิสลามว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้คนมีโอกาสอย่างเขา และเพื่อนๆ ต้องมามองสังคมให้มากกว่าเดิม เพราะสังคมเองยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า หรือคนชราที่ต้องการความสุข โอกาส ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่ในสภาพความเป็นจริงยังขาดการดูแล

“ศาสนาของผมได้สอนให้คิดถึงการตายอยู่เสมอ เพราะความตายคือเรื่องสำคัญ ไม่มีใครหนีความตายพ้น ดังนั้น เมื่อทุกคนรู้ตัวว่าต้องตาย ก็ควรจะต้องเตรียมตัวโดยการทำความดีให้มาก เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชีวิตมีคุณค่าก่อนที่จะจากโลกนี้ไป”

ได้ฟังมุมมองของน้องๆ ที่นับถือคนละศาสนา แต่มีแนวคิดเดียวกันที่อยากจะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า และทำตัวเองให้มีคุณค่าต่อสังคมให้มากที่สุด ก็นับว่าคุ้มค่าจริงๆ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ