มหิดล จับมือ ภาครัฐ ชุมชน รับ’ศึกน้ำ’ครั้งใหม่

สภาพภูมิอากาศความแปรปรวนของธรรมชาติก่อให้เกิดภัยพิบัติไปทั่วโลก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นไห่คุ้ยพัดเข้าถล่มจีน ทำให้ฝนตกหนักที่มณฑลเจ้อเจียง ต้องอพยพคนกว่า 1.5 ล้านคน ในขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 500 เที่ยว กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ก็กำลังผจญกับภาวะน้ำท่วมรุนแรง


มหิดล จับมือ ภาครัฐ ชุมชน ปรับ 'ตึกแดง'ศูนย์บัญชาการ รับ'ศึกน้ำ'ครั้งใหม่


สำหรับประเทศไทยสภาพฝนตกหนักตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าปีนี้คนไทยจะต้องเผชิญกับภาวะอุทกภัยรุนแรงเหมือนปลายปี 2554 หรือไม่ จากบทเรียนความสูญเสียจากเหตุอุทกภัยปีที่แล้ว ทำให้เกิดกระแสการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชน ชุมชนช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ


จากสภาพอุทกภัยปี 2554 มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นับเป็นพื้นที่แห่งเดียวของพื้นที่ปลายน้ำฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ที่สามารถป้องกันให้รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นศูนย์บัญชาการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตอำเภอพุทธมณฑล ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งเป็นแหล่งพักพิงอีกด้วย


ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสูญเสียจากเหตุอุทกภัยปีที่แล้วเป็นบทเรียนที่ทำให้ชุมชนหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น นับเป็นกระแสสังคมแนวใหม่ที่ประชาชนหันมาช่วยเหลือตนเองแทนการรอการพึ่งพาจากภาครัฐ


“มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะหน่วยงานของรัฐ และแสดงถึงความเป็นปัญญาของแผ่นดิน ซึ่งเป็นปณิธานที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดมั่น จึงเป็นแกนหลักในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐทั้งกองทัพ กรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันวางแผนภายใต้แนวคิด “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ สร้างเอกภาพ ลดความสับสน” โดยนำสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นโจทย์ตัวตั้งและวางแผนงานภายใต้สถานการณ์สมมุติ เพื่อให้เกิดการวางระบบบริหารจัดการหลายๆ ด้าน ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2555 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ ศาสตราจารย์สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานดำเนินการ”


ทั้งนี้ แผนต่างๆ ประกอบด้วย 1.แผนเตรียมพื้นที่สำหรับ Flood Way นอกจากการพร่องน้ำในเขื่อน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำจากประตูปากคลองทวีวัฒนาสู่สถานีสูบน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน และจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มจำนวน 120 เครื่อง สำหรับโครงการในระยะยาวจะมีการจัดทำ Canal Street ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 และ 5 รวมทั้งขยายทางยกระดับบรมราชชนนีไปจนถึงจังหวัดนครปฐม ระยะทาง 21 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในยามอุทกภัย


2.แผนกำหนดเส้นทางโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับกองทัพ กรมเจ้าท่า และกรมทางหลวง กำหนดเส้นทางการลำเลียง การขนส่ง การจราจร เตรียมยานพาหนะสำรองที่จำเป็น เช่น รถ จีเอ็มซี รถกระบะ รถบรรทุก เรือ รวมทั้งน้ำมันเบนซิน/ดีเซล 20 ถัง และเครื่องจีพีเอส โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


3.แผนการรักษาพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ของมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑลจะเป็นแกนหลักร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 4 แห่ง วางแผนบริหารจัดการ เตรียมทีมแพทย์ ซึ่งจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมเภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด สัตวแพทย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีม สำหรับออกเยี่ยมประชาชนโดยรอบรวม 5,434 ครัวเรือน


4.แผนการสื่อสาร กำหนดศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น โทรศัพท์มือถือระบบ เอสเอ็มเอส วิทยุสื่อสาร หอกระจายข่าวจำนวน 18 แห่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ลงไปสำรวจ และซ่อมบำรุงจนใช้การได้


5.ศูนย์อาสาสมัครและศูนย์รับบริจาคมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับชุมชนจะขึ้นทะเบียนอาสาสมัคร ซึ่งจะมีทั้งนักศึกษา ประชาชน พนักงานองค์กรส่วนท้องถิ่น จัดระบบการสื่อสารที่สามารถรวมพลได้อย่างทันท่วงทีในยามที่ต้องการ


สำหรับศูนย์รับบริจาค มหาวิทยาลัยมหิดลจะใช้ตึกแดงคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 142 ตารางเมตร ที่สำคัญคือ อยู่ในทำเลที่การขนส่งสะดวกทั้งทางรถและทางเรือ เป็นศูนย์บัญชาการรองรับสถานการณ์น้ำท่วม


ดร.เอกราช เกตวัลห์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์รับบริจาค มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการเตรียมความพร้อมอาคารแห่งนี้ว่า ตึกแดง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการ ทางวิศวกรรมของภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นอาคาร 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้นรวม 11,754 ตารางเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยมหิดล ติดถนนพุทธมณฑลสาย 4 อยู่ระหว่างประตูทางเข้าที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นทำเลที่สะดวกในการขนส่งทั้งทางรถและทางเรือ ในยามที่ประสบภัยน้ำท่วม


“พื้นที่ใช้สอยที่จะเป็นศูนย์บัญชาการของศูนย์รับบริจาคใช้พื้นที่ชั้นล่าง มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร เราจะใช้เป็นส่วนบัญชาการ 142 ตารางเมตร ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับจัดเตรียมแพคสิ่งของ สำหรับพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารตึกแดง ปกติจะใช้เป็นโรงฝึกงานสำหรับห้องปฏิบัติการของภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างขนาดใหญ่ ภายในอาคาร ซึ่งเหมาะจะใช้เป็นหน่วยบัญชาการของศูนย์รับบริจาค”


นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สำหรับเช็กสต๊อกของ จัดทำฐานข้อมูลสิ่งของบริจาค สามารถเช็กข้อมูลประจำวัน จัดระบบการกระจายสิ่งของ โดยประสานงานกับฝ่ายโลจิสติกส์ในการนำอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของต่างๆ ไปสู่ประชาชนที่รอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที


จึงมั่นใจว่าปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ มหาวิทยาลัยพร้อมรับมือแน่นอน


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย รุจิรารัตน์ บรรจง


 

Shares:
QR Code :
QR Code