‘มหิดลโมเดล’แก้วัยรุ่นตั้งครรภ์

มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดตัวโครงการ "มหิดลโมเดล : ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" เพื่อเป็นต้นแบบในการป้องกันแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชื่อมโยงทุกหน่วยงานของสังคมในการดูแลวัยรุ่นอย่างครบถ้วน


‘มหิดลโมเดล’แก้วัยรุ่นตั้งครรภ์ thaihealth


จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีคลอดบุตร จำนวน 129,451 คน คิดเป็น อัตราร้อยละ 5.38 หรือ 53.8 คนต่อจำนวนประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก


แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานโครงการ "มหิดลโมเดล : ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" กล่าวว่า วัยรุ่นไทยตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นทุกปี ติดอันดับต้น ๆ ของโลก และสูงเป็นอันดับ 4 จาก 10 ประเทศในอาเซียน ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถึงแม้ทุกหน่วยงานมี การพยายามลดอัตราการตั้งครรภ์ของ วัยรุ่น แต่การดำเนินงานที่แยกกันจัดการทำให้ไม่บูรณาการเข้าด้วยกัน จึงไม่สามารถก้าวทันปัญหาของวัยรุ่น และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มหาลัยมหิดลจึงมีนโยบายที่จะใช้ความเข้มแข็งทางวิชาการมารวมกลุ่มกันเพื่อรวมกันแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงเกิดโครงการ "มหิดลโมเดลฯ" ซึ่งแบ่งการทำงานทางวิชาการออกเป็น 4 กลุ่มทำงานเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กลุ่มพัฒนาวัยรุ่นในชุมชน, กลุ่มพัฒนาครอบครัว, กลุ่มคลินิกวัยรุ่นในโรงเรียน และกลุ่มคลินิกแม่วัยรุ่นในโรงพยาบาล


มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ดูแลเด็กวัยรุ่นในโรงพยาบาลและโรงเรียน, คณะพยาบาลศาสตร์ และสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนจะดูแลเยี่ยมบ้านแม่วัยรุ่นหลังคลอดให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง, สถาบันวิจัยประชากรและสังคมดูแลปัจจัยเรื่องครอบครัวองค์รวม เพื่อส่งเสริมให้ วัยรุ่นมีทัศนคติที่ดี จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าครอบครัวสนใจ ให้เวลา และดูแล อย่างใกล้ชิด จะมีอัตราการตั้งครรภ์ ที่น้อยกว่าวัยรุ่นที่ครอบครัวไม่สนใจ


ที่สำคัญคือ โครงการนี้ให้ความสำคัญ กับการศึกษา วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วต้องได้กลับมาเรียนทุกคน ถ้าไม่อยากเรียนโรงเรียนเดิม โครงการจะหาโรงเรียนใหม่ให้เรียน รวมทั้งจะเข้าไปจัดตั้งแกนนำ วัยรุ่นในโรงเรียนที่จะให้คำปรึกษากับเพื่อน ๆ ด้วย โครงการมหิดลโมเดลฯ ทั้งนี้คาดหวังว่า จะสามารถขยายผลเป็นการบูรณาการในเขตพื้นที่เทศบาลทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาของชาติอย่างตามเป้าหมาย


ด้านนางธวัลรัตน์ เปี่ยมสมบูรณ์ ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมงาน กล่าวว่า จะนำสิ่งที่ได้ รับจากการฟังบรรยายไปแนะนำให้วัยรุ่นในชุมชน ให้รู้จักวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียนต่อไป แต่ปัจจุบันในชุมชน ก็เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมากในเรื่องนี้ แทบไม่มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เลย เพราะเด็ก ๆ ได้เห็นตัวอย่างคนที่มีลูกในวัยที่ไม่พร้อมว่าลำบากอย่างไร มีปัญหาอย่างไรบ้าง จึงรู้จักคิดรู้จักป้องกัน


 


 


ที่มา : เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code