มหาสารคาม โมเดลหมู่บ้าน “ลด-ละ-เลิกอบายมุข”

“งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นวลีที่พูดถึงมากในช่วงเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาเช่นนี้ ทุกปีจะมีการรณรงค์ให้ผู้คนที่ใฝ่ในธรรมย่อมไม่แตะต้องอบายมุขเหล่านี้ ส่วนคนที่เคยดื่ม เคยศีลหย่อนยานตลอดทั้งปี ก็จะใช้โอกาสนี้ขันนอตตัวเองตั้งมั่นเลิกเหล้าในช่วง 3 เดือน

บางคนก็เลิกได้ตลอดชีวิต บางคนก็ถือเป็นเทศกาลหยุดเหล้าพักตับชั่วคราว ส่วนอีก 9 เดือนที่เหลือก็กลับมาดื่มเหล้าเหมือนเดิม การรณรงค์ในแต่ละเทศกาลก็เหมือนไฟไหม้ฟาง สุดท้ายวนกลับมาที่เดิม ปัญหาอบายมุขในชุมชนไม่หมดไป เงินไม่พอใช้ติดพนัน ติดหวย ติดเหล้า ส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว เกิดการกู้หนี้นอกระบบ ผลกระทบตามเป็นลูกโซ่ กลุ่มวัยทำงานทิ้งบ้านช่องเพื่อไปหางานทำตามเมืองใหญ่เพื่อส่งมาจุนเจือครอบครัว ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดความอ่อนแอขึ้นในชุมชน

ราษฎรในหมู่บ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ก็เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายเช่นนี้มาก่อน ในชุมชนไม่มีความสงบสุข เมื่ออบายมุขยังวนเวียนอยู่รอบตัว แต่วันนี้สภาพในหมู่บ้านดอนมัน พลิกเปลี่ยนจากร้ายเป็นดี ด้วยความร่วมมือของทุกคนในชุมชน ที่ต้องการเห็น หมู่บ้านสีขาว ผู้คนจิตใจสะอาด สว่าง สงบ เพราะนั่นย่อมส่งผลถึงอนาคตของลูกหลานที่จะได้เติบโตมาในชุมชนที่ดี น่าอยู่ ปลอดอบายมุข

จุดเริ่มต้นเกิดจากแรงบันดาลใจของ นายอดิสร เหล่าสะพาน กำนันบ้านดอนมัน ที่มองต้นเหตุของปัญหาในชุมชน พบว่าชาวบ้านติดอบายมุข จึงหารือกับชาวบ้านหาทางออกของปัญหาร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ “อดิสร” ก็เป็นหนึ่งในผู้ตกอยู่ในวังวนแห่งบาป เขาบอกว่า ผ่านอบายมุขมาทุกรูปแบบ เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เลิกได้เมื่ออายุกว่า 30 ปี สูบอย่างน้อยวันละ 2 ซองขึ้นไป มากที่สุดคือวันละ 6 ซอง ดื่มเหล้าวันละ 300 บาท เป็นอย่างน้อย เป็นเจ้ามือการพนันทุกประเภท ขอให้ได้เงิน เพราะการพนันทำให้ได้เงินเร็ว แต่ละเดือนจึงมีรายจ่ายไม่เกิดประโยชน์เดือนละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท

“แรงกระตุ้นที่ทำให้คิดได้ เกิดจากขณะไปทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ จ.สกลนคร วันหนึ่งเห็นยายหลานคู่หนึ่งอยู่กันตามลำพังในบ้าน วันนั้นหลานป่วยหนัก แต่หมดโอกาสในการไปหาหมอ เพราะยายไม่มีเงินมากพอ รู้สึกหดหู่ใจมาก หันมามองดูตัวเอง ยิ่งสลดใจและเวทนาตัวเองว่า ทำงานมาถึง 4 ปี แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะหมดไปกับการดื่ม กิน และเที่ยว อนาคตก็คงไม่ต่างจากยายหลาน”

“เมื่อเหลียวมองรอบตัว ก็ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาความยากจนของคนอีสาน คือ การเป็นทาสอบายมุข ทำให้ชุมชนอ่อนแอ คนที่จะต้องมารับชะตากรรมคือ ลูกหลานในอนาคต จึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า จะเลิกอบายมุขทุกอย่าง ดังนั้นในปี 2547 จึงตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วกลับมาอยู่บ้าน พร้อมเริ่มชักชวนชาวบ้านมาพูดคุยหาทางออกของปัญหาร่วมกัน”

การเลิกอบายมุขทุกประเภทอย่างเด็ดขาดเป็นสิ่งที่อดิสรทำให้ชาวบ้านดอนมันเห็นเป็นต้นแบบในการพูดจริง ทำจริง จากนั้นชักชวนชาวบ้านให้มาล้อมวงพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วถามความสมัครใจว่าต้องการแก้ปัญหาร่วมกันหรือไม่ เมื่อชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 พร้อมใจเดินหน้าหาทางออก การเริ่มต้นค้นหาต้นตอปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่การทำบัญชีครัวเรือนของแต่ละครอบครัว พร้อมประสานงานขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความรู้ ความชำนาญมาร่วมเป็นคณะกรรมการให้คำปรึกษา ชาวบ้านดอนมันเริ่มทำบัญชีครัวเรือนเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 โดยเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยซักถาม

ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าชาวบ้านดอนมันแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์เดือนละ 5-6 พันบาท ที่ล้วนมาจากอบายมุข การซื้อหวย เหล้า บุหรี่ เล่นการพนัน และค่าโทรศัพท์ที่โทรขอเพลง ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายไม่เกิดประโยชน์ ที่ชาวบ้านต้องเสียไปทุกเดือน แต่กลับไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ที่แน่นอน เมื่อรู้ปัญหาแล้วจึงมาเรียนรู้แก้ปัญหาหาทางออกร่วมกัน เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของชุมชนคือ ทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐของแต่ละหน่วยงานมาช่วยเป็นพี่เลี้ยง

“พื้นฐานของคนอีสานเป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ขอแค่มีอยู่ มีกิน ทำกิน แบ่งปัน และขายเท่านี้ชีวิตก็สามารถอยู่ได้ เราเริ่มอุดช่องโหว่ของปัญหาด้วยการเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น ประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรมาชวนคิดชวนคุย ว่าในชีวิตประจำวันชาวบ้านรับประทานอะไรบ้าง เมื่อกินส้มตำ ก็ให้ปลูกมะละกอ พริก มะเขือเทศ พืชผักสวนครัว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็ตามมา ลดค่าใช้จ่าย พร้อมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาแนะให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างจริงจัง”

กว่า 9 ปีที่ชาวบ้านช่วยกันแก้ไขปัญหาเหลียวหน้า แลหลังบ้านตัวเอง มีกิจกรรมที่สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนลด ละ เลิก อบายมุข ไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมอาชีพ มีกฎบังคับใช้ให้ทุกคนอยู่ในข้อกำหนดของชุมชน ถึงแม้จะต้องถูกชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และลองดีหลายครั้ง การขอร้องกัน ต่อรอง ยึด และมีรางวัลให้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อลด ละ เลิก อบายมุขในชุมชนที่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อตกลงด้วยการนำอบายมุขทั้งเหล้า บุหรี่ และการพนันมาเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะมีมาตรการ คือ ให้การช่วยเหลือ แต่สนใจน้อยลง ถ้าเป็นบุคคลในประเทศ ไม่พึงประสงค์ จะไม่ให้การช่วยเหลือในทุกด้าน เพราะถือว่าผู้ที่นำอบายมุขมาสู่ชุมชนเป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

สิ่งที่เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ การตั้งกองทุนแม่แก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นเมื่อปี 2552 โดยคณะกรรมการจาก 23 หมู่บ้าน จะเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่างานศพ งานแต่งงาน รวมถึงงานรื่นเริงต่างๆ เป็นงานปลอดเหล้าอย่างแท้จริง จะมอบเงินสมทบทุนให้งานละ 1,000 บาท

“ปีแรกที่ดำเนินงาน ทางกองทุนจ่ายเงินสมทบทุนให้เจ้าภาพงานถึง 18 งาน รวมเป็นเงิน 1.8 หมื่นบาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเรากำลังเปลี่ยนสังคมบ้านเราให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ได้เชิญเครือข่ายไปร่วมงานเพื่อศึกษาดูงานว่าชาวบ้านที่นี่เขาทำกันจริงๆ จนเป็นรูปธรรมที่ส่งผลให้ชาวบ้านมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงๆ”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการดำเนินงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน หลายหน่วยงานรวมถึงประชาชนให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาในชุมชน รางวัลที่ได้รับอย่าง หมู่บ้านบริหารจัดการดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

หมู่บ้านกองทุนแม่ดีเด่น จากกระทรวงมหาดไทย หมู่บ้านศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรวงยุติธรรม และโครงการอีสานสร้างสุข ด้วยวิถีพอเพียง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รวมถึงหลายรางวัลเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจจริงของชาวบ้านที่ลงมือสร้างสังคมชนบทให้มีคุณภาพ

วันนี้ “บ้านดอนมัน” จึงเป็นหมู่บ้านต้นแบบของคนอีสาน ที่สร้างสุขให้เกิดขึ้นทั้งกายและใจ สามารถลด-ละ-เลิก อบายมุขได้ มีความมั่นคงทั้งอาชีพ รายได้ และวิถีชีวิตวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ที่กำลังขยายการสร้างสุขให้ครอบคลุมไปทั่วแผ่นดินอีสาน โดยหวังให้ชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกหลานในอนาคต

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก โดยกวินทรา ใจซื่อ

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ