มหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง

      เทศบาลตำบลอุโมงค์เปิดมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมืองและนวัตกรรมการสร้างเมืองหวังเป็นสถานที่บ่มเพาะปัญญา นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงชุมชนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่สร้างพลเมือง


/data/content/27023/cms/e_abcelmpwy246.jpg


     ที่ศูนย์อุโมงค์ลดโลกร้อน ถนนสายป่าเห็ว-ริมปิงตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายอนันตพล บุญชูรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารโครงการพัฒนาพลังเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นสู่การขับเคลื่อนตำบลน่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย


     คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายในพิธีเปิดมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมืองและนวัตกรรมการสร้างเมือง โดย นายขยัน วิพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ ในฐานะนายกสภามหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง กล่าวถึงประวัติและความเป็นมาของมหาวิชชาลัย หัวข้อปฏิบัติการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่โดยพลเมืองอุโมงค์กว่า 15 ปี


     สรุปได้ว่า ตำบลอุโมงค์มีพื้นฐานด้านพลเมืองเป็นทุนอยู่ก่อนแล้วแต่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบเมื่อเข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะจากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ตำบลอุโมงค์ได้วิเคราะห์ต้นทุนและศักยภาพทำให้เห็นจุดแข็งด้านการสร้างพลเมืองอันเป็นสิ่งที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นจุดเริ่มต้นให้ตำบลอุโมงค์จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ ภายใต้โครงสร้างของมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง


   /data/content/27023/cms/e_bcfhipqrt124.jpg  มหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมืองเป็นสถานที่บ่มเพาะปัญญา โดยอ้างอิงข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาเป็นระยะเวลานาน ตลอดจนมีรูปธรรมรองรับ สามารถสัมผัสได้ และไปประยุกต์ใช้ได้จริง บนเป้าหมายการพัฒนาที่ต้องการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่สร้างพลเมือง


     เส้นทางการพัฒนาเริ่มจากระยะตั้งไข่ ปี 2542-2546 เป็นการเริ่มต้นกระจายอำนาจ เริ่มต้นสร้างเมือง รวมกลุ่มประชาชนระยะก่อร่างสร้างพลเมือง ปี 2547-2554 มีการเลือกตั้งครั้งแรก ก่อเกิดสวัสดิการ อุโมงค์เมืองคนสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงระยะสุขภาวะ ปี 2555-2557


     ร่วมเรียนรู้องค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน กลับมาพัฒนาแหล่งเรียนรู้สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เครือข่ายร่วมสร้าง และสุดท้ายคือระยะฟักตัวและก่อเกิดมหาวิชชาลัย ปี 2557-ปัจจุบัน สร้างพลเมืองจิตอาสา สู่การเป็นมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง คำว่ามหาวิชชาลัยแตกต่างจากคำว่ามหาวิทยาลัย ที่ใช้เรียกสถาบันการศึกษาชั้นสูงในปัจจุบัน โดยคำว่า วิชชา แปลว่าปัญญา หมายถึง การรู้ทั้งหมด การรู้ตัวเองเป็นคำที่บ่งบอกสถานะที่สูงว่า วิทยา ที่แปลว่า ความรู้ รู้เป็นเรื่องๆ รู้เฉพาะส่วน การสร้างมหาวิชชาลัย หรือสถาบันพัฒนาปัญญาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในยุคปัจจุบัน


     ภายในงานมีการจัดกิจกรรมแปรเปลี่ยนทุนเป็นปัญญา นำประชาชนเป็นพลเมือง โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ปรัชญาและวิทยาการ ทั้งหมด 6ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานที่ 1 เส้นทางสู่การสร้างพลเมือง ฐานที่ 2 อุโมงค์ย้อนคิด ฐานที่ 3 โรงเรียนดอกซอมพอ ฐานที่ 4 กองทุนสวัสดิการประชาชนตำบลอุโมงค์ (ออมหมู) ฐานที่ 5


     อาสาปันสุข และฐานที่ 6 เกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้มีการฮ่ำกะโลงคนอุโมงค์ “ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน” กิจกรรมจินตนาการและวิทยาการผ่านการเสวนาหัวข้อ “ขบวนการสร้างพลเมือง พลังพลเมืองสร้างชาติ” การแนะนำหลักสูตรการจัดการเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง การแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “มหาวิชชาลัยกับการสร้างพลเมือง” โดย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ จากนั้น มีพิธีเปิดมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง ชมข่วงผญ๋ากับการสร้างพลเมือง


 


 


     ที่มา:  เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (สำนัก 3 สสส.)


     ภาพประกอบจากเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

Shares:
QR Code :
QR Code