“มหาวิชชาลัยปริกฯ” ชุมชนขับเคลื่อนสู่สังคมน่าอยู่

ที่มา : แนวหน้า


ภาพโดย สสส.



เมื่อพูดถึง "การศึกษา" หลายคนมักจะนึกถึง "การศึกษาในระบบ" อันหมายถึงการศึกษาตามหลักสูตรในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย กับ "การศึกษานอกระบบ" หรือที่เรียกกันติดปากว่าการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เป็นการนำหลักสูตรระดับต่าง ๆ ของการศึกษาในระบบมาดัดแปลงประยุกต์ให้เหมาะสมกับเวลาและวัยของผู้เรียน กรณีผู้เรียนไม่สะดวกเข้าเรียนในระบบ เช่น ตั้งครรภ์ในวัยเรียนจนต้องเลี้ยงลูก มีฐานะยากจนต้องช่วยทางบ้านทำงาน เพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม


แต่ปัจจุบันยังมีเรื่องของ "การศึกษาตามอัธยาศัย" ที่เป็นมากกว่าการศึกษานอกโรงเรียนหรือนอกระบบ เพราะหมายถึง "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ไม่จำกัดอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ เน้นไปที่ "การสร้างทักษะชีวิต" ทั้งวิชา อาชีพ และหลักการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ดังตัวอย่าง "มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ณ เทศบาลตำบล (ทต.) ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่ง "ทีมงาน นสพ.แนวหน้า" มีโอกาสติดตามคณะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปเยี่ยมชมเมื่อเร็ว ๆ นี้



สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิชชาลัยปริก มี 7 กลุ่มสังคม คือ 1.สังคมคนดี การเรียนรู้เรื่องศาสนา ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เน้นการสร้างพลังเด็กเยาวชนให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ส่งเสริมการสอน ศาสนาทุกกลุ่มวัย เพื่อขัดเกลาจิตใจ ก่อให้เกิดสังคมคนดี 2.สังคมสันติสุข การร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ปรากฏเป็นรูปธรรมทุนทางสังคม ได้แก่ ศูนย์ยุติธรรมชุมชนเทศบาลตำบลปริก เป็นต้น 3.สังคมสวัสดิการ การช่วยเหลือกัน การนำแนวคิดเศรษฐกิจพองเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา โดยส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ 4.สังคมรักษ์โลก การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ เช่น ขยะมีบุญ 5.สังคมเอื้ออาทร การดูแลกัน เน้นการพัฒนา และยกระดับงานด้านการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม กาย จิต อารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม 6.สังคมปรับตัว การจัดการภัยพิบัติ ส่งเสริมให้คนในชุมชนเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติ และ 7.สังคมไม่เดือดร้อน การเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน และส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรผสมผสาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี



ขณะที่ อุษณีย์ เหล็มหมัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนให้รู้ถึงคุณธรรม จริยธรรม โดยการสอนทางศาสนา และยังเป็นหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมหาวิชชาลัยปริก 1 ใน 7 กลุ่มสังคม คือสังคมคนดี เล่าว่า โรงเรียน เปิดทำการเรียนการสอนเมื่อปี 2548 สอน ในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน นักเรียนทั้งหมด 493 คน การจัดการเรียนการสอนด้านหนึ่งใช้หลักสูตรมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นมา แต่อีกด้านยังมีหลักสูตรนอกระบบที่สอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา โดยนักเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87 เป็นชาวมุสลิม และมีนักเรียนชาวพุทธร้อยละ 13 ดังนั้นทางโรงเรียนจึงสอนเนื้อหาของศาสนาทั้ง 2 เช่น การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การศึกษาวิชาฮาดิษ (คำสอน ของศาสดา) และวิชาศาสนบัญญัติ ของศาสนาอิสลาม รวมถึงหลักธรรม วันสำคัญ และประวัติพระพุทธเจ้า ของศาสนาพุทธ


"ที่นี่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติศาสนกิจ เช่น ให้นักเรียนชาวมุสลิมละหมาดในช่วงที่อยู่โรงเรียนในเวลาเที่ยง (ละหมาดซุฮ์รี) และละหมาดตอนเย็นก่อนกลับบ้าน (ละหมาดอัสรี) และทุกเที่ยงของวันศุกร์จะให้นักเรียนชายไปร่วมละหมาดวันศุกร์ (ละหมาดญุมอัติ) ที่มัสยิด ส่วนนักเรียนชาวพุทธจะให้ไปร่วมกิจกรรมที่วัด เช่น การจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนในช่วงปิดเทอม และกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ทำให้นักเรียนเข้าใจหลักการเคารพ ในความแตกต่างของความเชื่อทางศาสนา" ผอ.รร.เทศบาลตำบลปริก ระบุ



อีกด้านหนึ่ง อาหลี หมัดหนิ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลปริก เล่าว่า ได้เรียนรู้เรื่องแนวคิดการจัดการขยะจากคณะผู้บริหารเทศบาล จึงนำมาปรับใช้กับครัวเรือนตนเองเนื่องจากมีกิจการร้านอาหาร เริ่มจากการคัดแยกขยะ แบ่งเป็น 1.ขยะอินทรีย์ ได้แก่ เศษผัก เศษอาหารที่เหลือจากลูกค้ารับประทาน นำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล เมื่อแยกแล้วนำไปเข้าสู่กิจกรรมขยะของชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง และ 3.ขยะทั่วไป ซึ่งมีไม่มากนัก ทิ้งสู่ถังเทศบาล จึงช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องเป็นภาระของเทศบาลได้ทางหนึ่ง


นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพลังงานจังหวัดสงขลา ในการให้ความรู้และสนับสนุนอุปกรณ์ผลิตแก๊สชีวภาพ และเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทางเทศบาลก็กำลังประสบปัญหาเรื่องขยะประเภทกะลามะพร้าวพอดี จึงทำให้เกิดการใช้แก๊สชีวภาพในครัวเรือน และผลิตถ่านจากกะลามะพร้าวหรือกิ่งไม้ จนกลายเป็นครัวเรือนต้นแบบเรื่องการคัดแยกขยะเพื่อนำไปสร้างเป็นมูลค่า


ในปัจจุบันหลักการจัดการศึกษาและการพัฒนาประการหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือ "ต้องให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่" ซึ่งที่ ทต.ปริก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจึงมีวัฒนธรรมอิสลามเป็นแกนหลัก ศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างท้องถิ่นให้น่าอยู่ ดังตัวอย่างของ สุรินทร์ บินล่าต๊ะ กรรมการมัสยิดดาหรนอาหมัน ชุมชนร้านใน เล่าถึงโครงการ "ขยะมีบุญ" ว่า ได้นำหลักคำสอนทางศาสนามาเชื่อมโยง



"ศาสนาอิสลามกำหนดให้ความสะอาดเป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของผู้ศรัทธา" และมีการดำเนินการดังนี้ 1.ประชุมคณะกรรมการมัสยิดและ พี่น้องสัปบุรุษ โดยพูดคุยประเด็นปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน และแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในแต่ละฝ่าย 2.ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้ครัวเรือนร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและกลางทาง เพื่อช่วยลดขยะปลายทางที่เทศบาลต้องจัดการ 3.กำหนดวันรับบริจาคขยะรีไซเคิล ซึ่งทำเป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งนัดหมายผู้ประกอบการมารับซื้อ 4.ชาวบ้านในชุมชนเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิล ซึ่งจะรวบรวมใน 2 สถานที่ คือ ประชาชนที่มีขยะรีไซเคิลปริมาณมากให้เก็บไว้ที่บ้าน และที่มีปริมาณน้อยสามารถนำมาใส่ตะแกรงคัดแยกขยะที่มัสยิด 5.ติดต่อผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลตามเวลาที่กำหนด มอบเงินที่ขายขยะให้มัสยิด เพื่อนำไปพัฒนามัสยิดและชุมชน และ 6.มีการประเมินติดตาม ซึ่งจะทำทุกวันเสาร์ สัปดาห์ที่ 4 ของทุกเดือน พร้อมทั้งสรุปและจัดทำบัญชีกองทุนขยะของมัสยิด


"มัสยิดยังรณรงค์ให้มัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง ภายใต้คำขวัญ "กรุณา ให้เกียรติบ้านของอัลเลาะห์ด้วยการไม่สูบบุหรี่และใบจาก" ร่วมกับการให้ความรู้ด้านสุขภาพและโทษของการสูบบุหรี่ สร้างความตระหนักถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่ และขอความร่วมมือจากชุมชนร่วมผลักดันให้มัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือผู้ที่มามัสยิดทุกคนงดสูบบุหรี่ในมัสยิดและบริเวณใกล้เคียง" กก.มัสยิดดาหรนอาหมันฯ กล่าว


ปิดท้ายกันที่ ผสุดี หมัดอาดำ รักษาการ ผู้อำนวยกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการส่งเสริมให้ชุมชนนำหลักแนวคิดเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือ 1.การส่งเสริมความรู้เรื่องการจัดการขยะที่ถูกวิธี ตั้งแต่ครัวเรือน 2.การส่งเสริมให้นำขยะมาสร้างเป็นมูลค่าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และ 3.การนำขยะมาทิ้งในบ่อขยะ นอกจากนี้ยังนำขยะอินทรีย์จากร้านค้า ร้านอาหาร และครัวเรือน มาผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพ



"กิจกรรมของเทศบาลส่งผลให้ชาวบ้าน มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของการจัดการขยะที่ถูกต้อง ซึ่งเทศบาลได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงมาดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ยุทธศาสตร์แห่งเมืองคาร์บอนต่ำ คือ 1.เมืองแห่งต้นไม้ 2.เมืองไร้มลพิษ 3.เมืองพิชิตพลังงาน และ 4.เมืองบริโภคอย่างยั่งยืน มาดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเรื่องการพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน" ผสุดี กล่าว


ในท้ายที่สุดสำหรับมหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่ดำเนินไปพร้อมกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทต.ปริก โดยเฉพาะ "สิ่งแวดล้อม" เป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญ อย่างมาก อาทิ มีการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้บูรณาการ เศรษฐกิจพอเพียง เทศบาลตำบลปริก" มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ แบ่งออกเป็นบ่อทิ้งขยะ 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลือได้ดำเนินกิจกรรม "เทศบาล คาร์บอนต่ำ" เป็นที่รับรองการจัดการขยะปลายทางของชุมชน


ทต.ปริก ทั้ง 7 ชุมชน ที่นี่ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาจัดทำ โรงอบขยะ เครื่องสะบัดขยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) โดยนำขยะจากบ่อขยะมาอบแห้งแล้ว นำไปสะบัดให้เหลือเพียงขยะพลาสติก เพื่อนำไปสร้างมูลค่าต่อไป อาทิ ผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และทางเทศบาลยังเคยส่งผลงานเข้าประกวดนวัตกรรมเรื่องพลังงานเพื่อชีวิต (Energy For Life) ซึ่งใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ จำนวน 5 แหล่ง การเรียนรู้ แล้วได้รับรางวัลอันดันที่ 2 ประเภททั่วไป จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้บูรณาการ การจัดการขยะ และการอนุรักษ์พลังงาน


"มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" จึงเป็นโครงการของชุมชน ขับเคลื่อนโดยชุมชน และเพื่อความน่าอยู่ของชุมชนอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code