มหัศจรรย์ ‘ดนตรีบำบัด’ ฟื้นพลังกาย-ใจ
ทราบกันดีว่า ‘เสียงดนตรี’ นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินและช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ฟังแล้ว ยังสามารถช่วยบำบัดรักษาทางด้านร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เสียงดนตรีจะบำบัดโรคทางกายได้อย่างไร?
“ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา” ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า ปัจจุบันดนตรีบำบัดเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์มากขึ้นและเริ่มได้รับความสนใจ โดยระยะหลังมีงานวิจัยออกมายืนยันค่อนข้างมาก ทั้งจากต่างประเทศหรือแม้แต่ในทวีปเอเชียเองก็ตาม
“ยกตัวอย่างการวิจัยในคนไข้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจในห้องฉุกเฉินพบว่า หากใช้ดนตรีเข้ามาร่วมด้วย เช่น เปิดดนตรีที่ฟังแล้วเย็นสบายและระดับเสียงที่พอเหมาะ ผู้ป่วยจะสงบลงได้ง่ายและลดการใช้ยานอนหลับหรือบางรายแทบจะไม่ต้องใช้ยานอนหลับเลย อีกทั้งคนไข้ยังสามารถหายใจร่วมกับเครื่องช่วยหายใจโดยไม่ต่อต้านทำให้ทุกอย่างราบรื่นในการรักษา”
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในเรื่องของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่กำลังจะเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สร้างความกังวลใจอย่างมาก มีกลุ่มแพทย์ที่ใช้ดนตรีเข้ามาใช้เพื่อลดความกังวลให้กับคนไข้เพิ่มเติมนอกจากการพูดคุย โดยเลือกดนตรีที่คนไข้ชอบและเป็นประเภทที่เหมาะสมกับผลที่ต้องการ เช่น เสียงดนตรีที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกเบาสบาย สงบ ไม่ต้องคิดมาก หรือบางทีถ้าคนไข้สามารถร้องเพลงหรือเล่นดนตรีเองได้ ก็จะทำให้ช่วยเปลี่ยนความสนใจจากความกังวลเรื่องสุขภาพมาอยู่ที่การเล่นดนตรี ลดความกังวลลงไปและได้ความเพลิดเพลิน ได้สติเพิ่มเข้ามา
ดนตรีบำบัดกับการแพทย์แบบองค์รวม
ผศ.นพ.สุทัศน์บอกว่า ในประเทศไทยกำลังเริ่มให้ความสนใจในการนำดนตรีมาใช้กับคนไข้มากขึ้น เพราะในทางการแพทย์ที่มีการรักษาแบบองค์รวมจะมองลึกไปกว่าการรักษาอาการทางกาย แต่ยังต้องให้ความสำคัญทางด้านจิตใจและสุขภาพจิตของคนไข้ควบคู่ไปด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของดนตรีบำบัดจึงนับว่ากำลังจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
“เช่นเดียวกับที่ มศว ก็จะมีการจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดเป็นระยะ คนไข้ในห้องฉุกเฉินไม่ว่าจะใส่เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ก็ตาม ก็จะมีการเปิดเพลงตามที่คนไข้ชอบ โดยการสอบถามจากญาติ เช่น ชอบศิลปิน วงดนตรี หรือสไตล์เพลงแนวไหน และถ้าไม่ได้ส่งผลต่อการรักษาเราก็จะเปิดเพลงให้คนไข้ฟังตามความเหมาะสม หรือบางรายอาจจะไม่เคยฟังดนตรีมาก่อน เราก็สามารถเปลี่ยนจากเสียงดนตรี เป็นเสียงเทศนาของพระที่คนไข้ให้ความเคารพนับถือ คือพยายามเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับคนไข้เพื่อการบำบัดรักษาที่ได้ผลดีที่สุด”
นอกจากนี้ก็จะมีศิลปินอาสาแวะเวียนมาเล่นดนตรีให้คนไข้ฟังอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับ "วงมโหระทึก ดนตรีลีลา" ที่ก่อตั้งโดยคุณนพพล โกมารชุนและคุณปรียานุช ปานประดับ ตระเวนเล่นดนตรีตามโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเพื่อสร้างความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับคนไข้และญาติที่ต้องมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เรียกได้ว่าคนฟังดนตรีก็มีความสุข คนเล่นดนตรีก็มีความสุขตามไปด้วย
ประสบการณ์ 'ดนตรี' กับ 'การบำบัดโรค'
คำบอกเล่าของอดีตนักแสดงชื่อดัง ที่ปัจจุบันผันตัวมาทำงานเบื้องหลังในวงการบันเทิง “ปรียานุช ปานประดับ” เล่าย้อนไปถึงตอนที่ก่อตั้ง วงดนตรี “มโหระทึก ดนตรีลีลา” ว่าในตอนนั้นเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับอาการป่วยอย่างหนัก จนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ จึงได้หันกลับมาเล่นขิมและฝึกซ้อมเป็นประจำ จนมือและแขนที่เกือบจะเป็นอัมพฤกษ์สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง
“เวลาที่จิตใจของเราจดจ่ออยู่ที่การเล่นดนตรียังช่วยให้ลืมความเจ็บปวดได้ชั่วขณะ นอกจากนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดด้วย พอเล่นดนตรีไปสักพักก็เลยชวนน้องๆ พนักงานในบริษัทเป่าจินจงมาเล่นดนตรีด้วยกัน และตั้งวงดนตรีขึ้นมา ก่อนที่จะตะเวนไปเล่นตามโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เพราะหวังจะมอบความสุขให้กับผู้ป่วยได้มีรอยยิ้มจากเสียงดนตรีของพวกเรา” ปรียานุชกล่าว
เพราะดนตรีสามารถเปลี่ยนมุมมองจากความรู้สึกมืดมนให้กลับมามีความสุขได้ แม้จะชั่วขณะ…แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก
เรื่องโดย : ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th
**ทั้งนี้กิจกรรมเสาร์สร้างสุข ตอน “มหัศจรรย์ดนตรีบำบัด” (Music Therapy) เป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำเดือนของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไป สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihealthcenter.org หรือโทร. 081-731-8270 (09.00-17.00 น. จันทร์-เสาร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) Line ID: thaihealth_center