มหันตภัยอิทธิพลโฆษณาแฝง เพิ่มนักดื่มหน้าใหม่
“อิทธิพลของการโฆษณาที่ไม่มีการควบคุมนำเยาวชนสู่วงจรนักดื่มหน้าใหม่ทุกวันนี้มีโฆษณาแฝงในรูปแบบภาพยนตร์ ละครเสนอฉากดื่มเหล้า ถือสินค้า ไม่ทำพฤติกรรมโจ่งแจ้ง ไม่สังเกตจะไม่รู้นี่คือจงใจโฆษณา ขณะที่ตามร้านอาหาร ร้านจำหน่ายใช้สัญลักษณ์สีหรือคำพูดแทนโฆษณาตราสินค้าโดยตรง ส่งผลต่อการจดจำ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เห็นบ่อยเกิดความเคยชิน อยากทดลอง เป็นลูกค้า”
จากมหันตภัยน้ำเมาส่งผลกระทบเชิงลบต่อเยาวชนที่ผ่านมา ทำให้เรื่องน้ำเมากลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนหันมาติดตามการกำหนดนโยบาย และแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติมากกว่านี้อีก เพราะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบทั่วถึงเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งเยาวชนสูญเสียอนาคต เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เสียสุขภาพ พัฒนาการทางสมองถูกทำลาย ซึ่งที่ผ่านมีการผลักดันกฎหมายน้ำเมาให้มีผลบังคับใช้แล้ว ตลอดจนหลายองค์กร และภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ดำเนินการรณรงค์ เฝ้าระวัง หรือใช้มาตรการทางสังคมหนุนเสริมเพื่อลดผลกระทบต่อเด็กไทย โดยเฉพาะการเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่
สุเทพ สดชื่น ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวถึง แนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาน้ำเมาอย่างมีประสิทธิภาพว่า ประเด็นหลักๆ คือ กฎหมายที่มีอยู่แล้วต้องบังคับใช้ ไม่ปล่อยให้อิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย จนทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาขณะนี้เป็นเรื่องช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายแอลกอฮอล์แต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน จำเป็นต้องบูรณาการ พูดคุยกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มรอบสถานศึกษาปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้มข้นขึ้น ปัจจุบันการโฆษณาแฝงเป็นกลยุทธ์น้ำเมาที่มีผลต่อการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนในอนาคตเพิ่มขึ้น
“อิทธิพลของการโฆษณาที่ไม่มีการควบคุมนำเยาวชนสู่วงจรนักดื่มหน้าใหม่ทุกวันนี้มีโฆษณาแฝงในรูปแบบต่างๆ ภาพยนตร์ ละครเสนอฉากดื่มเหล้าถือขวดหรือกระป๋อง ไม่ทำพฤติกรรมโจ่งแจ้ง หากไม่สังเกตจะไม่รู้นี่คือจงใจโฆษณา ขณะที่ตามร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้สัญลักษณ์สี หรือคำพูดโฆษณาแทนโฆษณาตราสินค้าโดยตรง ทั้งสีเขียว สีแดง สีทอง สีดำ สีเหลือง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการจด จำ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เห็นบ่อยเกิดความเคยชิน อยากทดลอง บวกกับร้านค้าฝ่าฝืนกฎหมายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กหรืออายุเกินกฎหมายกำหนดซื้อดื่มได้การส่งเสริมโฆษณาแฝงของบริษัทเหล้า-เบียร์หวังผลระยะยาวด้านลูกค้า” ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ย้ำมหันตภัยอิทธิพลของโฆษณาแฝง
สังคมไทยยังมีเรื่องที่น่าวิตกมากมายสุเทพ ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับเยาวชนมาตลอดระบุว่า กลยุทธ์ของบริษัทเหล้า-เบียร์มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป โดยหาช่องทางที่ไม่ต้องขัดกฎหมาย หรืออาศัยช่องว่างกฎหมาย พบว่าการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมหรือที่เรียกว่า “csr” ระยะหลังมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก นำไปสู่การเป็นลูกค้าผู้จงรักภักดีต่อตราสินค้าในอนาคต เห็นได้ชัดเจนจากร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งต้องเร่งผลักดันให้สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญให้ความรู้เยาวชนรู้เท่าทัน สร้างองค์ความรู้ให้พวกเขา เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกในทางที่ถูกที่ควร อีกประเด็นที่เสนอคือการควบคุมกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง
“ปัญหาเยาวชนไทยอยู่ในวิกฤติมานาน ผลจากวิธีคิดและปัจจัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากระตุ้นให้สถานการณ์รุนแรง เนื่องจากกลุ่มทุนมองเยาวชนเป็นเหยื่อของสินค้าหากรัฐบาลและหลายๆ หน่วย งานยังไม่ให้ค่าความสำคัญต่อเยาวชน จะเกิดการบริโภคที่เกินจำเป็นเช่นปัจจุบัน ยังกิน ยังดื่มยังใช้ โดยไม่รู้ชีวิตต้องการอะไร ขณะที่ผู้ใหญ่พยายามเอาเหล้าให้เด็กกินทีละนิดๆ” สุเทพเล่าถึงปัญหา
หากต้องการฉุดรั้งสถานการณ์ของเยาวชนที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดีขึ้นผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาแสดงทัศนะว่า ต้องแก้โครงสร้างเชิงครอบครัว โดยเฉพาะมุ่งไปที่ตัวเยาวชน ทำให้เข้าใจเป้าหมายในการใช้ชีวิต ไม่มีพฤติกรรมที่ผิดพลาดหรือสุ่มเสี่ยงเสียอนาคต ขณะเดียวกันหน่วยงานต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมของเยาวชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม หากเด็กขาวบริสุทธิ์ แต่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมสีดำ ก็จะมีพฤติกรรมสีเทาได้ไม่ยาก
สรุปที่สำคัญ ต้องเร่งผลักดันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาซึ่งระยะแนวทางระยะสั้นให้มีกฎหมายชัดเจน ระยะ 300-500 เมตร รอบสถานศึกษาต้องกำหนดโซนนิ่ง หากทำไม่ได้ต้องหามาตรการควบคุมระยะ 1 กิโลเมตรกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ ร้านเหล้าเปิดบริการก็ได้ แต่หากพบการกระทำผิดตามกฎหมาย ขายเหล้าให้เด็ก หรือเปิดเกินเวลาต้องรับบทลงโทษที่หนักกว่าปกติ หรือหากผิดซ้ำซากตรวจสอบได้ว่าจงใจ ก็ไม่แปลกหากจะถูกปิดกิจการ อยากให้ทุกคนในสังคมอยู่ภายใต้กฎหมาย จะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
“เหล้าปั่นนั้นเข้าถึงหาซื้อได้ง่าย แถมมีการผสมเหล้ากับเครื่องดื่มหลายประเภททั้งกาแฟ ไอศกรีม น้ำผลไม้ สะท้อนวิธีคิดของผู้ใหญ่ ทำทุกทางให้เยาวชนเข้ามาเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล้าปั่นกินง่าย รสหวาน ปรับดีกรีให้ต่ำลง จึงทำให้นักดื่มอายุลดลงมีเด็กเข้าสู่วงจรน้ำเมามากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก แนวโน้มสูงขึ้นๆ แม้มีกฎหมายแล้ว แต่ไปไม่ทันกลยุทธ์เหล่านี้ การแก้ปัญหาจึงต้องใช้มาตรการทางสังคมและผลักดันทางกฎหมายควบคู่กันไป” สุเทพกล่าวในตอนท้าย โดยหวังไม่ให้สังคมไทยต้องแบกรับภาระปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนและนักดื่มหน้าใหม่ขณะเดียวกันพร้อมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาน้ำเมา ในการร่วมดูแลสังคม หากคนไทยและเยาวชนตระหนักภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว จะสามารถรับมืออย่างรู้เท่าทันต่อไปได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์